โฆษกลุฟต์ฮันซา สายการบินสัญชาติเยอรมัน แถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ 10 ม.ย.ที่ผ่านมา หลังการประชุมกับสหภาพแรงงาน ยอมรับบริษัทมีพนักงานส่วนเกินมากถึง 26,000 คน จากทั้งหมด 22,000 ตำแหน่ง ที่อาจถูกพิจารณาเลิกจ้างได้ เพราะไม่จำเป็นกับบริษัทในสภาวการณ์เช่นนี้
การปรับโครงสร้างครั้งนี้ มาจากความพยายามลดต้นทุนเพื่อหาเงินไปใช้คืนหนี้ วงเงิน 9,800 ล้านยูโร หรือประมาณ 344,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเยอรมันตกลงให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ลุฟต์ฮันซาในประเทศออสเตรีย ยังได้รับวงเงินสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรียอีกกว่า 450 ล้านยูโร หรือ 15,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อกู้ยืม 300 ล้านยูโร (10,000 ล้านบาท) ที่รัฐบาลเข้ามาค้ำประกันถึงร้อยละ 90 และเม็ดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรงอีก 150 ล้านยูโร (5,000 ล้านบาท) เพื่อรักษางาน 7,000 ตำแหน่งและศูนย์กลางการเปลี่ยนเครื่องที่เมืองเวียนนาเอาไว้
ทั้งยังเป็นการผ่อนปรนภาระการขาดทุนจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสะท้อนออกมาจากตัวเลขงบประมาณในไตรมาสแรกที่บริษัทมีรายรับรวมในไตรมาส 1/2563 ทั้งสิ้น 6,441 ล้านยูโร (226,000 ล้านบาท) คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7,838 ล้านยูโร (275,000 ล้านบาท) เท่านั้นยังไม่พอ ตัวเลขขาดทุนสุทธิของบริษัทในไตรมาสแรกนี้ยังสูงถึง 2,124 ล้านยูโร (74,000 ล้านบาท) เทียบกับการขาดทุนสุทธิ 342 ล้านยูโร (12,000 ล้านบาท) ในไตรมาส 1/2561 ซึ่งคิดเป็นการขาดทุนสุทธิมากขึ้นกว่า 5 เท่า
ปัจจุบันบริษัทกำลังเจรจากับสหภาพแรงงานเพื่อหาทางออกให้พนักงานทำงานครึ่งเวลาและลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก่อนที่จะมีการประชุมกับผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะได้จากรัฐบาลในวันที่ 25 มิ.ย.ที่จะถึงนี้
ล่าสุด ฝั่งสหภาพลูกเรือออกมาเรียกร้องให้บริษัทสัญญาที่จะไม่บีบบังคับให้มีการปลดคนออก ขณะที่สหภาพนักบินออกมายื่นข้อเสนอลดเงินเดือนลงร้อยละ 45 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 350 ล้านยูโร (12,000 ล้านบาท) แต่ลุฟต์ฮันซาต้องรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง; Reuters, CNBC, NYT, The Nation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;