ไม่พบผลการค้นหา
สรุปภาพรวมเลือกตั้งล่วงหน้า สารพัดความผิดพลาดของ กกต. กลโกงการเลือกตั้ง การเฝ้าระวัง ‘จัดเก็บบัตร’ เลือกตั้งล่วงหน้า และการจับตาเลือกตั้งภาคประชาชน ที่ยังไม่แน่ชัดว่าครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้งหรือไม่

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ประชาชนไปใช้สิทธิกันเยอะระดับ 2 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ หรือคิดเป็นราว 5% ของผู้มีสิทธิ มีรายงานความผิดพลาดหลายจุด ทำให้เกิดความ ‘ไม่เชื่อมั่น’ ในการจัดการเลือกตั้งพอสมควร การพลาดมีหลายประเด็น แต่โดยหลักคือ

  1. ‘บัตรโหล’ ของส.ส.แบบเขต การส่งผิดอาจทำให้คะแนนของคนหนึ่งเป็นของอีกคนจากอีกพรรค 
  2. บัตรจะถูกส่งไปจัดเก็บ ณ สถานที่ราชการ อีกหลายวันกว่าจะเปิดนับคะแนนหลังปิดหีบในวันเลือกตั้งจริง 14 พ.ค. สถานที่เหล่านั้นอยู่นอกสายตาของประชาชน
  3. เมื่อจำแนกข้อมูลการเก็บบัตรเลือกตั้ง 400 เขต พบว่า ของ กทม. 33 เขต เก็บไว้ในจุดเดียวที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิดให้ประชาชนกดเข้าไปดู แต่ที่เหลืออีก 367 เขต กระจายไปหลายแห่ง แบ่งเป็น 
  • 316 เขต ใช้สถานที่จัดเก็บเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (อบต. เทศบาล อำเภอ สมาคมผู้ใหญ่บ้านและกำนัน) 
  • 46 เขต จัดเก็บภายในโรงเรียน และศูนย์การศึกษานอกระบบ 
  • 3 เขต จัดเก็บที่สำนักงาน กกต. จังหวัด   
  • 1 เขต (นครปฐม เขต 2) จัดเก็บที่ อาคารกองรักษาการณ์ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 
  • 1 เขต (สมุทรสงคราม เขต 1) จัดเก็บไว้ที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง

นอกจากนี้ยังมีปัญหา  ‘กีดกัน’ ผู้สังเกตการณ์โดยอ้อมใน 2 ทาง 

  • กีดกันคนของพรรคการเมืองต่างๆ โดยการพลิกเกณฑ์ในช่วงท้าย ให้ค่าจ้างผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมือง ต้องนับเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ที่กฎหมายจำกัดแค่ 44 ล้านบาท ซึ่งล้วนเอาไปใช้หาเสียงกันหมดแล้ว 
  • กีดกันประชาชนทั่วไปที่จะเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ยอมส่งรายชื่อระดับ “หน่วยเลือกตั้ง” ให้กับหน่วยงานจับตาเลือกตั้ง ทำให้ไม่เห็นภาพรวมว่าแต่ละเขตจัดการเลือกตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง มีการขอไปกับ กกต. แต่ กกต.บอกว่า อยู่ภายใต้การจัดการของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อขอไปที่มหาดไทยก็ “ไม่มีเสียงตอบรับจากหลายเลขที่ท่านเรียก” 

ประชาชนสามารถร่วมเป็นอาสาสมัครได้ที่ Vote62.com ซึ่งเป็นการร่วมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมที่เคยจับตาการเลือกตั้งมาแล้วเมื่อปี 2566 องค์กรนี้จะมีการรายงานคู่ขนานกับ กกต.ของจริง เป็นคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้ง  ขณะนี้มีอาสาสมัครลงทะเบียนแล้วกว่า 23,000 คน แต่ก็ยังห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดเกือบแสนหน่วย 

ภาพรวมเลือกตั้งล่วงหน้า

ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 7 พ.ค.  มีทั้งสิ้น  2,285,522 คน 

ผู้มาใช้สิทธิ์จริง 2,090,114 คน คิดเป็น

91.45% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า

4% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด  (52,287,045 คน)

5.33% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาเลือกตั้งคราวที่แล้ว (75%)

เลือกตั้งล่วงหน้า ‘ในเขต’ ผู้ลงทะเบียน  60,786 คน มาใช้สิทธิจำนวน 57,362 คน คิดเป็น 94.37 %

เลือกตั้งล่วงหน้า ‘นอกเขต’ ผู้ลงทะเบียนจำนวน 2,222,380 คน มาใช้สิทธิจำนวน 2,030,628 คน คิดเป็น 91.37 %

เลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,356  คน มาใช้สิทธิล่วงหน้ารวมจำนวน 2,124  คน คิดเป็น 90.15 %

ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การลงทะบียนขอใช้สิทธิเจำนวน 2,400,661 ยังไม่ทราบตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์


สรุปความผิดพลาดของ กกต.

Rocket Media Lab สรุปรายงานปัญหาและความผิดปกติในการเลือกตั้งล่วงหน้าพบว่ามีการรายงานเข้ามาทั้งหมด 547 ราย จาก 58 จังหวัด โดย 10 ปัญหาของการเลือกตั้งหน้าที่มีการรายงานเข้ามามากที่สุดคือ

  • 166 รายใส่รหัสเขตหน้าซองผิดจากเขตเลือกตั้งจริง,เขียนเขตผิด,ไม่ระบุหมายเลข
  • 64 ราย ไม่มีกระดานแนะนำผู้สมัครพรรค และรายชื่อผู้สมัครและพรรคไม่ครบ 
  • 49 ราย เจ้าหน้าที่ไม่เซ็นกำกับซอง ,ไม่เซ็นทับตรงกลาง, เซ็นบนเทปใส,ไม่แปะเทบใสทับลายเซ็น  
  • 47 ราย รอคิวนานเกินไป  
  • 38 ราย แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต 
  • 26 ราย พบการทักท้วง โวยวาย,ทะเลาะระหว่างผู้มาใช้สิทธิกับเจ้าหน้าที่ 
  • 25 ราย ไม่มีรูปผู้สมัคร  
  • 23 ราย ลงทะเบียนล่วงหน้ามาแล้ว แต่ไม่พบชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 
  • 17 ราย ข้อมูลผิด เช่น เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เขียนเขตผิดและพบข้อมูลผิด อาทิ หน่วยเลือกตั้ง 51 สำหรับเขต 1 แต่ติดป้ายผู้สมัครของเขต 2
  • 11 ราย เจ้าหน้าที่ไม่ได้เช็คหน้าผู้มาเลือกตั้งกับบัตรประชาชน 

iLaw  รวบรมปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า 5 ประการ ได้แก่ 

  • สถานที่แออัด อากาศร้อน ทำให้มีผู้เลือกตั้งเข้าไม่ถึงสถานที่และเดินทางกลับบ้านไปก่อน
  • ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว กลับไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย กรณีนี้จะทำให้ประชาชนเหลือตัวเลือกในวันที่ 14 พ.ค. เพียง 2 ทาง  คือ เดินทางกลับไปเลือกตั้งยังภูมิลำเนาเดิม หรือสละสิทธิการเลือกตั้ง
  • ไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับมีคนมาลงคะแนนเสียงไปแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะ “ถูกสวมสิทธิเลือกตั้ง” รวมทั้งการไปแล้ว แต่ไม่พบชื่อตัวเองจากการติดใบที่ไม่ครบถ้วนของ กกต.
  • เจ้าหน้าที่เขียนกำกับเขตเลือกตั้งหน้าซองผิดพลาด ทำให้เมื่อไปถึงปลายทาง คะแนน ส.ส.เขตจากพรรคหนึ่งจะเป็นของอีกพรรคหนึ่ง
  • การจ่าหน้าซองผิดเขตเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเขตดินแดง บางเขน และเขตในจังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ซอง โดยยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับแจ้งซึ่งอาจมีอีกเป็นจำนวนมาก
  • เจ้าหน้าที่ฉีกบัตรลงคะแนนออกจากสมุดเล่มผิดพลาดจนบัตรฉีกขาด ประชาชนโต้แย้งให้นำบัตรลงคะแนนใหม่มาให้ เนื่องจากอาจจะนับเป็นบัตรเสีย เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บัตรลงคะแนนใบใหม่ ทว่าอาจเกิดปัญหาลักษณะนี้ในที่อื่นที่ไม่มีอาสาสมัครไปรายงาน
กังวลกลโกง ขน ‘คนแก่’ ไปเลือกตั้งนอกเขต  

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ออกมาโพสต์แฉเกี่ยวกับกลโกงเลือกตั้งล่วงหน้า ในหลายประเด็น ได้แก่ 

  1. อำนาจเจริญโมเดล จังหวัดที่มีเพียง 2 เขต แต่มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าถึง  7,259 คน สูงขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน และมีการใช้วิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า สลับเขตเลือกตั้งภายในจังหวัด คนที่ทะเบียนบ้านอยู่ในเขต 1 ก็ลงทะเบียนไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 2  ส่วนคนที่อยู่เขต 2 ก็สลับลงทะเบียนไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 1 รวมตัวเลข 
  2. ประชาชนในอำนาจเจริญ เช็กรายชื่อคนมีสิทธิ์เลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อ จึงไปร้อง กกต.จังหวัด  ถึงได้รู้ว่าถูกหลอกเอาบัตรประชาชนแอบไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม ไว้เรียบร้อย 
  3. มีคลิปวิดีโอที่ชี้ว่า มีหัวคะแนนนำผู้สูงอายุมาลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก ที่หน่วยเลือกตั้ง โรงเรียนประทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ เป็นการขนคนจากทับเมย เขต 1 มาลงคะแนนล่วงหน้าที่ เขต 2 โดยมาคันละ 10 คน และชูวิทย์อ้างด้วยว่า มีสัญญากันว่าจะให้เงินอีก 500 บาท


สารพัดเล่ห์กล เตะตัดขาคู่แข่ง

ด้าน ภาคีพลเมืองสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ภาคเหนือตอนล่าง ได้รวบรวบข้อค้นพบการทุจริตเลือกตั้ง ผ่านการแจ้งเรื่องของชาวบ้าน ดังนี้ 

  1. เขต 2 จังหวัดพิษณุโลก มีการแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนผู้สมัครพรรคของคู่แข่ง เข้าไปจดรายชื่อประชาชนและสัญญาว่าจะนัดหมายจ่ายเงินซื้อเสียง แต่ก็เบี้ยวการจ่าย ทำให้ตัวของผู้สมัครและพรรคที่ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย 
  2. บางพรรคใหญ่ ได้ใช้กลไกลอาสาสมัครของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานในด้านสุขภาพอนามัย, อสม. ไปทำหน้าที่หัวคะแนนหลักเกือบทุกจังหวัด โดยทำงานคล้ายกับเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองนั้น  
  3. ในการเลือกตั้งล่วงหน้าหลายพื้นที่ กกต.เขต ได้ทำการรวมคะแนนอยู่ในห้องปิด ซึ่งไม่ให้ใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ทำให้ประชาชนที่ไปจับตาการเลือกตั้งเกรงว่า บัตรจะออกลูกออกหลาน
ต้องเฝ้าระวัง ‘จัดเก็บบัตร’ เลือกตั้งล่วงหน้า

ในส่วนการจัดเก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า มาถึง 2 ล้านใบ บัตรเลือกตั้งจะถูกจัดเก็บไว้ที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ทั้งหมด 368 แห่ง ในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนอีก 33 เขตของกรุงเทพฯ ถูกจัดเก็บไว้ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)  แบ่งจุดเก็บไว้ยังห้องต่างๆ ทั้งหมด 33 จุด  โดย กทม.มีการติดตั้งกล้อง CCTV ซึ่งประชาชนสามารถกดเข้าไปรับชมแบบเรียลไทมได้ตลอดเวลาที่

https://general-election.bangkokcc.com/?cameraId=214     

แต่นั่นเป็นมาตรการของจังหวัดเดียว !!!!  ที่อื่นอยู่ในมือหน่วยราชการเป็นหลัก และแม้ กกต.จะบอกว่ามีกล้อง CCTV แต่ก็เป็นการตรวจสอบกันภายใน

สำหรับการจัดเก็บบัตรเลือกตั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด 367 เขต พบว่า  

  • 316 เขต ใช้สถานที่จัดเก็บเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (อบต. เทศบาล อำเภอ สมาคมผู้ใหญ่บ้านและกำนัน) 
  • 46 เขต จัดเก็บภายในโรงเรียน และศูนย์การศึกษานอกระบบ 
  • 3 เขต จัดเก็บที่สำนักงาน กกต. จังหวัด   
  • 1 เขต (นครปฐม เขต 2) จัดเก็บที่ อาคารกองรักษาการณ์ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 
  • 1 เขต (สมุทรสงคราม เขต 1) จัดเก็บไว้ที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง
จับตารายงานผลเลือกตั้งเรียลไทม์

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปใช้ระบบ ECT Report ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งหลัง 22.00 น. แล้วให้สื่อต่างๆ มาดึงข้อมูลไปกระจายรายงาน

ภาคประชาชนในนาม ‘Vote62.com’ ซึ่งเคยรายงานการเลือกตั้งปี 2562 มาแล้วจึงขยับรับอาสาสมัคร และทำระบบรายงานผลคู่ขนาน กกต. ปัจจุบัน (10 พ.ค.) ได้อาสาสมัครแล้ว 23,409 คน ข้อดีคือ จะได้หลักฐานภาพถ่ายคะแนนรวมระดับ ‘หน่วยเลือกตั้ง’ มาตรวจสอบกับคะแนนของ กกต. และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันรายงาน ‘ความผิดปกติ’ ณ จุดเลือกตั้งไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม

ที่ยังเป็นอุปสรรคคือ จำนวนอาสาสมัคร คิดเป็นแค่ 1 ใน 5 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และภาครัฐไม่ส่งข้อมูลให้ว่า หน่วยเลือกตั้งทั้งหมด……….. แห่งนั้น ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง ตัวแทน Vote62 ระบุว่า ถามไปที่ กกต. ก็บอกว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการ กกต. ไม่มีข้อมูล ขณะที่เมื่อสอบถามไปที่กระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ได้รับคำตอบ กำหนดจุดยุทธศาสตร์ได้ยาก อาศัยได้เพียงอาสาสมัครธรรมชาติอยู่ใกล้ตรงไหนก็ส่งข้อมูลเข้ามา

นอกจากนี้ สื่อต่างๆ ก็ได้ร่วมมือกันทำระบบรายงานผลคู่ขนานแบบเรียลไทม์ ซึ่งเคยใช้มาแล้วในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยสื่อโทรทัศน์, สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง 2566 ได้แก่

NATION TV, TOP NEWS, BBC Thai, Thai PBS, MONO29, SpaceBar, Thairath, GMM25, ส่องสื่อ, TNN, TRUE4U, ข่าวสด, PPTV, ทีวีรัฐสภา, ประชาชาติธุรกิจ, AMARIN TV 34HD, JKN, กรุงเทพธุรกิจ, ช่อง 3, Workpoint Today, คมชัดลึก, ช่อง 5, The MATTER, Spring News, ช่อง 7, Voice TV, ฐานเศรษฐกิจ, MCOT, THE STANDARD, Thainews, NBT, The Reporters, PostToday, ONE 31, มติชน, The Nation, เครือผู้จัดการ, ช่อง 8

โดยจะดึงคะแนนจากอาสาสมัครหลายส่วน ทั้งของภาคประชาชน , ของกรมการปกครอง, ของพรรคการเมือง โดยยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รวมกันแล้วจำนวนเท่าไร ครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้งหรือไม่