ดวงตาสดใส ใบหน้าร่าเริง พร้อมกับรอยยิ้มหวานๆ ชวนให้คิดทันทีว่าผู้หญิงคนนี้ช่างเต็มไปด้วยความสุข
แต่ไม่น่าเชื่อว่าหญิงสาววัย 24 ปี ลูกครึ่งไทย-เยอรมันจะเคยผ่านเหตุการณ์แย่ๆ อย่างการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ชายใกล้ชิดถึง 2 คน และถูกข่มขืนจากผู้ชายอีกหนึ่งคน ตั้งแต่เธออายุไม่ถึง 9 ขวบ ต่อเนื่องกว่าสามปี
หากเป็นคนอื่นคงเลือกเงียบงันเก็บกดความรู้สึกผิดหวังให้ลึกลงไปสุดก้นบึงหัวใจ ไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยกับคนใกล้ชิด แต่ “จอมเทียน จันสมรัก” ทำสิ่งที่ตรงกันข้าม เธอเปิดเผยและเห็นว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่ได้ลดลงเพียงเพราะเคยถูกข่มขืน
“ไม่จำเป็นที่เราต้องเงียบ” จอมเทียนเอ่ยถึงความทุกข์เมื่อ 10 ปีก่อน สถานการณ์ที่คนฟังไม่มีทางจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
เธอไม่ต้องการที่จะลงลึกในเชิงรายละเอียด และเล่าว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยนึกถึงเรื่องดังกล่าวมากเท่าไหร่ เพราะผู้ใหญ่ในสังคมแนะนำแบบนั้น
“ตั้งแต่เด็กเราพยายามจะไม่คิดถึงและกดมันลงไปลึก คิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอาย ผู้ใหญ่ในบ้านได้ยินแล้วรู้สึกเศร้า เราไม่ควรทำให้คนอื่นเศร้าโดยการพูดถึงมัน เรากดปัญหาไว้ตลอด ผู้ใหญ่มักบอกเสมอว่าไม่ต้องไปคิดถึงมัน ความเจ็บปวดมันเป็นอดีตไปแล้ว ลืมๆ มันไปซะ”
กระทั่งเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้เธอได้ตั้งสติและทำความรู้จักกับตัวเองมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความถึงการหยิบเอาปมปัญหาที่อยู่ลึกในใจขึ้นมาตั้งคำถาม
“ที่ผ่านมาเราไม่สามารถพูดคุยกับใครได้เลย ถูกละเลยมาตลอด แต่ปัญหามันวางอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่เคยไปไหน ต่อให้เราปิดตามันก็ยังอยู่ตรงนั้น เรารู้สึกว่าการมองข้ามปัญหาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลยจริงๆ ”
“ทำไม” คือคำถามตัวโตที่อยู่ในสมองของเธอ ทำไมผู้ใหญ่ไม่อยากพูดถึง ทำไมครอบครัวถึงไม่อยากรับฟัง และทำไมเธอถึงต้องอาย ?
“คำตอบคือเพราะเราเชื่อว่าเราเป็นผู้หญิงและผู้หญิงที่เคยถูกข่มขืนเป็นเรื่องน่าอาย เราถูกครอบด้วยความเชื่อเรื่องเพศ การถูกข่มขืนมันก็คือการมีเซ็กส์โดยไม่ยินยอม เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอายไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เราตกเป็นเหยื่อ ทำไมเราต้องเป็นฝ่ายอาย ทำไมคนที่เงียบต้องเป็นเรา ทำไมเราไม่สามารถเอาเรื่องหรือเอาความเขาได้ เพียงเพราะเราเป็นผู้หญิงหรอ” หญิงสาววัย 24 ปีเล่าถึงความคิดขณะนั้น
ครั้งหนึ่งระหว่างทานข้าวกับเพื่อนสนิท เธอถูกอีกฝ่ายทักเรื่องที่บรรดาผู้คนซุบซิบนินทาถึงเรื่องในอดีต ซึ่งสะท้อนวิธีคิดและทัศนคติที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทย
“เราถามกลับว่า ซุบซิบเรื่องที่เราทำงานไม่ดีหรือเปล่า เปล่าเลยคนนินทาเราว่า ผู้หญิงคนนี้เคยถูกข่มขืน เราก็งงว่า ทำไมต้องนินทา การถูกข่มขืนมันทำให้ภาพลักษณ์เรามันดูไม่ดีได้ยังไง ทำไมการข่มขืนถึงกลายเป็นตราบาป แล้วทำไมการที่ผู้ชายถูกข่มขืนถึงไม่เป็นตราบาปเท่ากับผู้หญิง คนไทยมีอคติเรื่องเพศเยอะมาก”
ระยะสั้นๆ ที่ผ่านมาจอมเทียนพยายามต่อสู้กับทัศนคติเรื่องเพศ โดยนำเสนอประสบการณ์ วิธีการพัฒนาคุณค่าในตัวเองและการมองเหยื่อข่มขืน ผ่านข้อเขียนในเฟซบุ๊กและบล็อกส่วนตัว แต่เธอรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คน ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ต้องใช้เวลาและอดทนอย่างที่สุดกับความไม่เข้าใจของผู้เห็นต่างอยู่เสมอ
คอมเมนต์หนึ่งที่สั่นสะเทือนให้เธอต้องส่ายหัวคือข้อความที่บอกว่า “ถ้าผ่านความรู้สึกแย่มาแล้ว จะโดนข่มขืนอีกกี่ครั้งก็ได้สิ”
“เราเจอแบบนี้ ก็รู้สึกตกใจ มันเหมือนเราโดนตัดนิ้วไปหนึ่งนิ้ว แผลหายแล้ว เราไม่เจ็บแล้ว แค่คันๆ แล้วคุณมาถามว่าถ้างั้นโดนอีกสัก 3 นิ้วก็คงจะไม่รู้สึกอะไรแล้วดิ คือมันรู้สึกเหมือนเดิมทุกอย่าง อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เรื่องแย่ๆ ก็เป็นเรื่องแย่ๆ ตลอดไป”
จอมบอกว่าเวลาเจอคำถามหรือการโต้ตอบประเภทดังกล่าว มักจะพยายามนึกถึงเด็กคนต่อไปที่มีโอกาสเจอประสบการณ์แย่ๆ แบบเธอ
“การต่อสู้เรื่องแบบนี้ มันไม่ใช่แค่ 10 ปี ต้องดูกันยาวๆ เวลาเรารู้สึกเหนื่อยขึ้นมาก็จะนึกถึงเด็กคนต่อไปที่จะโดนแบบเรา ถ้าเราไม่เริ่มทำให้มันเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ตั้งแต่ตอนนี้ เด็กคนต่อไปที่โดนเหมือนเรา เขาก็จะเงียบ เจอปัญหาซ้ำๆ ไม่จบสิ้น และปัญหาไม่ถูกแก้ไข เราไม่อยากให้ใครเจอแบบเราอีกแล้ว หรือถ้ามีคนต้องเจอ เราอยากให้รู้เสมอว่า เขาสามารถยืนหยัดเพื่อตัวเองและดำเนินคดีอีกฝ่าย เจอความเจ็บปวดและผ่านไปมีชีวิตใหม่ที่สวยงามได้”
สำหรับคนใกล้ชิดอย่างครอบครัว พวกเขามีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือให้เหยื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่รบกวนหรือบั่นทอนหัวใจที่กำลังเจ็บช้ำ
“คนที่ไม่ตัดสินเราจากอดีตแย่ๆ ไม่มานั่งซักถามจับผิดว่าเราไปทำพลาดตรงไหนเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้น และคอยเป็นแรงสนับสนุนให้เรารักษาสิทธิของตัวเอง เอาความฝ่ายผิด ดูแลสุขภาพตัวเองหลังเกิดเหตุการณ์ได้ทันท่วงที และอยู่กับเราเสมอในช่วงที่เราต้องฝ่าด่านคำวิจารณ์ของสังคม”
ทั้งนี้ สถานการณ์การข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศนับวันแนวโน้มยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อปี 2560 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยข้อมูลหลังเก็บรวบรวมข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ พบว่า เกินครึ่งร้อยละ 51.3 เป็นข่าวข่มขืนร้อยละ 13.7 ข่าวพยายามข่มขืน ส่วนความสัมพันธ์ของผู้ที่กระทำ เกือบครึ่งหรือ ร้อยละ 40 เป็นคนคุ้นเคยร้อยละ 12 เป็นเครือญาติ คนในครอบครัว และร้อยละ 8.7 รู้จักกันผ่านโซเชียล ขณะที่อายุผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ร้อยละ 26.4 อายุเพียง 11-15 ปี และร้อยละ 23.9 อายุ 16-20 ปี
จากข้อมูลเห็นได้ชัดเจน แนวโน้มการข่มขืน มักมาจากคนใกล้ชิด คุ้นเคย ส่วนปัจจัยการก่อเหตุ 'จะเด็จ เชาวน์วิไล' ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด
สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้และเฝ้าระวังมากที่สุดคือ คนใกล้ตัว อยากให้มองปัญหาคนใกล้ตัวใกล้บ้านให้เป็นปัญหาใหญ่กว่าคนแปลกหน้า และกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด ควรช่วยกันสอดส่องดูแล และไม่ควรใช้เงื่อนไขอำนาจชายเป็นใหญ่ไปกระทำต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจะเห็นว่าการใช้อำนาจการทำร้ายผู้หญิงเกิดขึ้นถี่ และสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้กระทำไม่ได้เกรงกลัวการถูกลงโทษตามกลไกทางกฎหมาย อีกทั้งคนใกล้ชิดกฎหมายเป็นคนที่ใช้กฎหมายไปในทางไม่ถูกต้อง เช่น ให้ไกล่เกลี่ยยอมความ
ต้นเหตุของการข่มขืนในมุมมองของจอมเทียน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะอารมณ์ทางเพศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นอำนาจและความมั่นใจว่าจะไม่ถูกเอาผิดได้ง่ายๆ ของอีกฝ่ายด้วย
“เขารู้อยู่แล้วว่ามันผิดกฎหมาย แต่อะไรที่ทำให้เขาปลดปล่อยความต้องการของเขากับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเขาต้องมีความมั่นใจส่วนหนึ่งอยู่แล้วว่าเหยื่อต้องไม่กล้านำไปพูดต่อหรือต่อให้พูดก็จะไม่น่าเชื่อถือ หรือเขาสามารถกดดันให้เหยื่อเงียบได้ คิดว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า ขณะที่บางคนใช้การข่มขืนเพื่อกดให้เหยื่ออยู่ภายใต้อำนาจ”
เธอบอกว่าปัจจุบันเมืองไทยยังคงมีอคติอยู่เยอะมากในเรื่องเพศ ซึ่งเป้าหมายของเธอคือการทำให้ทุกคน มองการข่มขืนเป็นการกระทำในเชิงความรุนแรง ไม่ยึดติดกับเรื่องเพศ ฐานะทางสังคม หรือปัจจัยทางด้านอาชีพ เศรษฐกิจ และอื่นๆ
“สมควรแล้วที่โดน คนไทยพูดแบบนี้เยอะ แต่งตัวเซ็กซี่ เป็นเกย์ถูกข่มขืน คนบอกว่าก็อยากได้อยู่แล้วหนิ มีใจให้เขาหรือเปล่า แต่ผู้ชายถูกข่มขืน บอกแฟร์ๆ หนิ มันมีอคติเยอะแยะเต็มไปหมด เราหวังว่าในจุดๆ หนึ่งคนไทยจะยกอคติเรื่องเพศออกไปจากการพิจารณาคดีความข่มขืนได้ มนุษย์ต้องเคารพกันในฐานะความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย”
อย่างไรก็ดี เธอไม่เห็นด้วยกับ “โทษข่มขืนเท่ากับประหารชีวิต” เนื่องจากเชื่อในเรื่องการกลับตัวกลับใจและการพัฒนาของมนุษย์ หากได้รับการบำบัดและลงโทษอย่างเหมาะสมจากกระบวนการยุติธรรม
“ที่ทุกคนบอกว่า ชีวิตเหยื่อต้องพังทลายตลอดไป สำหรับเราในฐานะเหยื่อ ชีวิตเราไม่พังทลายตลอดไป แล้วคนที่เคยทำกับเรา เมื่อเรากลับไปมองเขา เขาก็ปรับตัวและเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เราคิดว่าในการกระทำความผิดครั้งแรกเขาควรจะมีโอกาสในการได้กลับตัว ติดคุก มีกระบวนการลงโทษที่ดี ไม่มีกระบวนการลดโทษในคดีความข่มขืน แล้วภายในคุกควรจะมีกระบวนการหล่อหลอมให้เขากลับไปเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ”
อย่างไรก็ตาม จอมเทียน เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมสมควรมีระบบติดตามนักโทษที่ดี และในการกระทำผิดซ้ำซาก โทษหนักที่ใกล้เคียงกับโทษประหารก็สมควรได้รับการพิจารณา
ทั้งนี้ วิธีคิดของเธอเมื่อพบเจอข่าวข่มขืน ไม่ใช่การมองว่าผู้กระทำเลวขนาดไหน แต่เลือกที่จะมองให้กว้างนั้น
“อะไรทำให้เขาเลวขนาดนั้น ทำไมสังคมถึงหล่อหลอมคนทำผิดออกมาได้ ถ้าสังคมหล่อหลอมอาชญากรขึ้นมาได้ ดังนั้นมันเป็นไปได้ไหม ที่เราจะหล่อหลอมเขากลับไปเป็นคนปกติและมีคุณภาพมากกว่าเดิม”
หลายคนรวมถึงนักจิตวิทยามองว่า การพูดถึงเหตุการณ์เลวร้ายอย่างการข่มขืนเสมือนเป็นการไปสะกิดแผลเก่าในอดีตให้กับผู้เสียหาย ซึ่งจอมเทียนเห็นด้วยและคิดว่า “ผู้ที่จะออกมาพูดถึงประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นควรมีความพร้อมแล้วจริงๆ”
“ไม่พร้อมก็ไม่ควรออกมา คนแรกหรือที่แรกที่ควรจะเล่าคือที่บ้าน ครอบครัว คนๆ นึง ข้างๆ ตัวคุณก่อน หรืออาจจะเลือกไปพบจิตแพทย์ ไม่ใช่ในโซเชียลมีเดีย เพราะที่นั่นมันไม่ได้ปลอบประโลมใจได้มากอย่างที่คิด หลังจากเล่าแล้ว หากคุณรู้สึกอยากจะให้มันส่งต่อไปถึงเหยื่อคนอื่นๆ ที่กำลังมีปัญหาหรือไม่กล้าที่จะเล่า หรือคนที่กำลังต้องการทางออก คุณก็ออกมาเล่า”
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังจะมีโครงการ #hear me too เปิดโอกาสให้เหยื่อผู้ที่พร้อมจะเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่ก้าวข้ามมากได้แล้ว ติดแฮชแท็กเพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล โดยเชื่อว่า ปัญหาจะถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุดเมื่อมันเริ่มจากคนที่เคยมีประสบการณ์จริง
เธอบอกว่า ผู้หญิงควรเคารพตัวเองให้มากกว่าที่เป็น และเชื่อเถอะว่าการมีเซ็กส์ไม่ได้ทำให้คุณค่าของเราลดลงไปแม้แต่นิดเดียว ไม่แตกต่างอะไรกับผู้ชาย
“เราอยากให้เหยื่อกล้าที่จะออกมาพูดเพื่อให้การดำเนินคดีมันเป็นไปอย่างทันท่วงที รวดเร็วและยุติธรรม ถ้าไม่กล้าพูดเรื่องมันก็ไม่ไปไหน” หญิงสาวฉีกยิ้มสดใส
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่คิดว่าตัวเองต้องสูญเสียหรือพ่ายแพ้ให้กับความรุนแรงที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ