เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 สส. และ ส.ก. พรรคก้าวไกล นำโดย ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ (เขตบางนา พระโขนง) ฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา สราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง พร้อมด้วย มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ “ซาบะ” ผู้ใช้วีลแชร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility is Freedom ร่วมตรวจงานทางเท้ากทม. บริเวณถนนอุดมสุขทั้งฝั่งซ้าย (เลขคี่) และฝั่งขวา (เลขคู่) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตบางนาและเขตพระโขนง โดยคณะได้เดินตรวจงานตั้งแต่ต้นซอยอุดมสุขฝั่งเลขคี่ จนถึงบริเวณก่อนถึงคลองเค็ด ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการปูทำทางเท้าใกล้แล้วเสร็จ เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดงานเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ทางเท้าซอยอุดมสุขฝั่งเลขคู่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ปิยรัฐ กล่าวว่า วันนี้มาตรวจสอบทางเท้าร่วมกับ ส.ก. ทั้ง 2 เขต หลังจาก กทม. มีการของบประมาณเพื่อนำมาปรับปรุงทางเท้าให้เป็นอารยสถาปัตย์ ออกแบบเพื่อผู้พิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนได้ใช้งานได้ร่วมกัน จึงได้เชิญคุณซาบะมาทดสอบและแสดงความเห็นติชม ในฐานะผู้ใช้วีลแชร์ของเขตนี้
ด้านมานิตย์หรือซาบะกล่าวว่า วันนี้มาทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการพัฒนาทางเท้าอุดมสุข ซึ่งตนกังวลถึงเรื่องมาตรฐาน เพราะโครงการนี้จะเริ่มสร้างทั่วกรุงเทพฯ จึงอยากให้มีมาตรฐานที่เท่ากันและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน โดยมีข้อสังเกตเช่น เจ้าหน้าที่เขตควรเดินสำรวจโครงการก่อสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อจะได้เห็นปัญหาและจุดที่ต้องแก้ไข เพราะระหว่างการสำรวจพบฝาท่อที่มีลักษณะนูนขึ้นมาเหนือพื้นดิน ตู้สื่อสารที่ขวางเส้นทางการใช้วีลแชร์ เสาไฟฟ้ากลางทางเท้า ร้านอาหารที่รุกล้ำทางเท้า นอกจากนี้ มีข้อที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับคนพิการ เนื่องจากคนพิการมีหลายกลุ่ม นอกจากกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ ยังมีกลุ่มผู้พิการทางสายตา แต่ตามเส้นทางยังมีหลายจุดที่มีปัญหา ไม่สามารถสัมผัสถึงสิ่งกีดขวางบนทางเท้าที่ช่วยในการสัญจรของผู้พิการทางสายตา
"จริงๆ เริ่มต้นมองว่านโยบายปรับปรุงทางเท้าเป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว แต่พอมาตรวจสอบหน้างาน จะเห็นว่ามีจุดตำหนิ (defect) ที่ต้องแก้ไขเยอะมาก เช่น การจัดโซนนิ่ง ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ตู้สื่อสาร ทุกอย่างที่อยู่บนทางเท้าต้องมีการจัดพื้นที่ และเห็นว่ามีการรุกล้ำทางเท้า ทางเท้าสกปรก ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างได้ไม่นาน” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการกล่าว
ซาบะกล่าวด้วยว่า จุดที่เป็นปัญหาที่สุดของตนคือเสาไฟฟ้าและเรื่องโซนนิ่ง รวมถึงความปลอดภัยระหว่างจุดเชื่อมต่อ ทางเดินทางเท้าต้องเป็น 0 องศา และต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ด้วย เช่น ผู้ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ
ด้านฉัตรชัย กล่าวว่า ทุกคนมาร่วมตรวจสอบในฐานะ Third Party ที่ผ่านมาการออกแบบสิ่งต่างๆ มักมองข้ามกลุ่มคนพิการ จึงได้เชิญภาคประชาสังคมที่ทำงานประเด็นดังกล่าวมาร่วมตรวจงานในวันนี้ด้วย ทำให้เห็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้ทางเท้าของคนพิการ ระยะทางตลอด 4 กิโลเมตรวันนี้มีหลายเรื่องต้องแก้ไข ตนและ ส.ก.ก้าวไกล ไม่นิ่งนอนใจแน่นอน จะร่วมผลักดันทางเท้าทั่ว กทม. ให้มีลักษณะเป็นอารยสถาปัตย์ หรือ universal design เพื่อประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม สามารถเดินทางได้โดยสะดวก