ไม่พบผลการค้นหา
ปลายปี 2561 ภาพการ์ตูน "ยุทธ์น็อกคิโอ" ปรากฏบนปก "ดิ อิโคโนมิสต์" ฉบับพิเศษ จับตาสำคัญสถานการณ์ทั่วโลกปี 2562 สะท้อนถึง การให้ความสำคัญต่อการจัดเลือกตั้งของประเทศไทยในปีนี้ว่า จะเกิดขึ้นตามคำสัญญาของ รัฐบาลทหาร นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่

พ้นศักราช 2561 ไม่ทันไร กระแสเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 5 ในรอบ 5 ปี ก็เกิดขึ้นฉับพลันทันทีต้อนรับปีหมู

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่อาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง ส.ส. ในความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. ยังไม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ตามกำหนดเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา

วอยซ์ออนไลน์’ ย้อนทบทวนความทรงจำ ‘คำสัตย์’ ของ หัวหน้า คสช. รวมทั้ง อภินิหารทางกฎหมาย ของ "เนติบริกร" และ การเด้งรับ ของกลไกแม่น้ำ 5 สาย เพื่อพิสูจน์ว่า ฉายา "ยุทธ์น็อกคิโอ" ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ดังนี้

  •  [จมูกยาวครั้งที่ 1] สัญญาเลือกตั้งต้นปี 2559  

สัจจะวาจา: "อีกไม่นานร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเสร็จสิ้น คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปีหน้า โดยเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสั้นๆ" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558

การเด้งรับ: "ระหว่างการเลือกให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ อยู่ต่อไปจนมีการเลือกตั้ง กับเลือกให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้วให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.อยู่ปฏิรูปต่อไป พร้อมตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ผมขอเลือกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวก่อน สปช.

ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2558 

อภินิหาริย์ทางกฎหมาย: สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 คว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558

ผลลัพธ์ ที่ออกมา เลื่อนเลือกตั้ง ตามเงื่อนไขที่เปิดช่องไว้ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ต้องตั้ง คณะกรรมการร่างรับธรรมนูญชุดใหม่ 21 คนขึ้นมาจัดทำ รัฐธรรมนูญ ถาวรให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน

ประยุทธ์
  •  [จมูกยาวครั้งที่ 2] สัญญาเลือกตั้งกลางปี 2560

สัจจะวาจา: "ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ หากประชาชนเห็นด้วย ก็ยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558

อภินิหารทางกฎหมาย: ช่วงเดียวกัน ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ "เนติบริกร" อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาชี้แจงโรดแมปเลือกตั้งสูตร "6-4-6-4" แบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จัดทำกฎหมายลูก 6 เดือน และเตรียมหาเสียงเลือกตั้ง 4 เดือน รวม 20 เดือน 

ทว่า "เนติบริกรชั้นหนึ่ง" อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ซ่อนกลไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับผ่านประชามติเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560

เมื่อบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ตีเช็คเปล่ารอ เปิดทางต่อวีซ่าให้รัฐบาล คสช.อยู่ยาวต่อเนื่อง ผ่านการจัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ที่ใช้เวลาจัดทำถึง 8 เดือน เมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งกลางปี 2560 ตามที่ผู้นำคนเดิมได้สัญญาไว้  

การเด้งรับ: จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งยังคงเป็นกำหนดการเดิมได้ หาก กรธ. และสนช. เร่งจัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับที่สำคัญต่อการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน 180 วัน ทว่า กรธ.ของนายมีชัย ก็จัดวาง "แท็กติก" ทางกฎหมายด้วยการแบ่ง ไทม์ไลน์การร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่สำคัญก่อนการเลือกตั้งเป็น 2 ช่วง "ปิดหัว-ปิดท้าย" คือ

ช่วงแรก กรธ.เร่งจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกรรมการการเลือกตั้ง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทันที แต่กลับทอดเวลาจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในช่วงท้ายสุด เพื่อให้ใช้เวลาเต็มที่ถึง 8 เดือนของการจัดทำกฎหมายลูก

ขณะที่ สนช.ก็ใช้เวลาการพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างถี่ถ้วนรอบคอบเต็มเวลาเช่นกัน ไม่เหมือนการพิจารณากฎหมายสำคัญอื่นๆ ที่ใช้เวลาอย่างรวดเร็ว

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช สภา รัฐสภา 0_Hkg10087413.jpg


  •  [จมูกยาวครั้งที่ 3] เลือกตั้งปลายปี 2560

สัจจะวาจา: "พอเรารู้ว่า วันเลือกตั้งจะเกิดในปลายปี 2560 ก็มีคนถามว่าจะบีบให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง 1. การจัดทำกฎหมายลูก 2.พรรคการเมืองจะยอมหรือไม่ และ3.ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง 3 ข้อนี้คือปัจจัยชี้เป็น - ชี้ตาย สำหรับการเลือกตั้ง แต่โรดแมปก็คือจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงปลายปี 2560 อย่างแน่นอน" นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย กล่าวชี้แจงโรดแมปการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2559

อภินิหาริย์ทางกฎหมาย: ไม่ต่างจากเลื่อนเลือกตั้งกลางปี 2560 เนื่องจากกรอบการร่างกฎหมายลูก โรดแมปคลาดเคลื่อนมาตั้งแต่สูตร 6-4-6-4 จนมาเป็น 6-4-8-5 จนไม่รู้ว่าจะใช้สูตรใดกันแน่ตามที่ เนติบริกรวางไว้ ในรัฐธรรมนููญ ฉบับ 2560 ที่ผ่านประชามติ ก็เป็นอันแน่นอนว่า การเลือกตั้งปลายปี 2560 ก็เป็นอันต้องพับไปอีกครั้ง        

การเด้งรับ: สนช.ในฐานะปลายน้ำการพิจารณาพ.ร.บ ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ใช้เวลาอย่างเต็มพิกัดเช่นเดียวกับกรธ. โดยเฉพาะการพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

โดยช่วงโค้งสุดท้ายของการพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทาง กรธ. สนช. และ กกต. ต่างเสนอปรับแก้เนื้อหาเล็กน้อยกันไปมา จนต้องตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาใช้เวลาเพิ่มอีก 30 วัน ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งตามโรดแมปต้องขยับอีกครั้ง

ประยุทธ์ จันทร์โอชา-เทเรซา เมย์-AP-ลอนดอน-ไทย-อังกฤษ
  • [จมูกยาวครั้งที่ 4] สัญญาเลือกตั้ง พ.ย. 2561

สัจจะวาจา: "ประเด็นการเดินหน้าประชาธิปไตยสากลของไทย ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป โดยในปี พ.ศ.2561 จะประกาศวันเลือกตั้งโดยไม่มีการเลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นเป็นส่วนของกรรมวิธีนับไปอีก 150 วัน ตามกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเยือนทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560

พล.อ.ประยุทธ์ ยังแถลงอย่าชัดเจนอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ว่า "ประมาณเดือน มิ.ย.2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือน พ.ย.2561 จะมีการเลือกตั้ง วันนี้มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมืองอยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการผ่อนคลายต่างๆด้วย"

ประยุทธ์ โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกา 171003041059.jpg

อภินิหาริย์ทางกฎหมาย: แท็กติกทางกฎหมายเพื่อยื้อวันเลือกตั้งออกไปยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดก๊อก เมื่อ กรธ. เลือกจะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นฉบับสุดท้าย ตามโรดแมปของ คสช.ขณะนั้นคือ ภายในเดือนมิ.ย. 2561 กฎหมายดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทันที ทำให้กรอบเวลากำหนดวันเลือกตั้ง 150 วัน จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. - พ.ย.2561 ซึ่งตรงกับคำสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้คำมั่นกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ทุกประการ

แต่แล้วก็เกิดการเล่นแร่แปรธาตุขึ้นในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในชั้นกมธ.ของสนช. เมื่อมีการปรับแก้ ในมาตรา 2 กำหนดให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุกเบกษา 90 วัน ส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนจากเดือนพ.ย. 2561 ไปโดยปริยาย

การเด้งรับ: การเดินเกม สนช.ถูกจับตามองว่า ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มติของ กมธ.เสียงข้างมากให้ปรับแก้เลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน เกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของการพิจารณา ทั้งยังมีการเปิดเผยภายหลังว่า มีสมาชิกสนช.บางรายเสนอให้เลื่อนเลือกตั้งไป 120 วัน

"ความจริงน่าจะขยายเวลาไปถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน แต่ก็ยังไม่มีใครเสนอ จึงเอาเพียงแค่ 120 วัน และในการประชุมวาระ 2-3 ผมจะอภิปรายความจำเป็นว่าทำไมต้องขยาย" นายทวีศักดิ�� สูทกวาทิน สมาชิก สนช.กล่าว

"เดิมผมตั้งใจจะขยายเวลาไปถึง 150 วัน แต่เห็นว่านายทวีศักดิ์ เสนอ 120 วัน ผมก็เอาด้วย" นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช.กล่าว  

สุดท้ายที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบในวาระสุดท้าย ด้วยคะแนน 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 เห็นด้วยกับการประกาศ

ทำให้คิวเข้าคูหากาบัตรใบเดียวต้องไปลุ้นกันต่อในปี 2562

คนอยากเลือกตั้ง ยุทธ์น็อกคิโอ
  •  [จมูกยาวครั้งที่ 5] เลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 ? 

สัจจะวาจา: "สำหรับความคืบหน้าของไทยในการก้าวสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ในต้นปีหน้า (2562) จะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระหว่างเดินทางเยือน สหราชอาณาจักร ในวันที่ 20-22 มิ.ย. 2561

ตลอดปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ก็ให้สัมภาษณ์ย้ำว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนก.พ. 2562 อยู่หลายครั้ง

"จะได้เรียกแม่น้ำ5สาย และพรรคการเมืองเพื่อหารือ กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นไม่เกินเดือนก.พ. 2562 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง จะอยู่ในห้วงเวลานี้ แต่ทั้งนี้อยู่ในสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนั้นด้วย ขอร้องให้เลิกถามเรื่องนี้ได้แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561

“เลือกตั้งโน่น ก.พ. โน่น ไม่ต้องมาถามตรงนี้ มันเป็นตามขั้นตอนอยู่ เลือกตั้งยังไงก็ ก.พ. ผมพูดยืนยันอย่างนี้นะเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 62 ไม่ต้องมาถามตรงนี้ มันเป็นตามขั้นตอนอยู่ “เลือกตั้งอย่างไรก็ ก.พ. ผมพูดยืนยันแบบนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561

"แม้กฎหมายจะเอื้อให้เลือกตั้งได้ถึงพ.ค. 62 แต่ตนเองเป็นคนเสนอว่าขอให้มีการเลือกตั้งในเดือนก.พ.เป็นระยะแรกของกฎหมายด้วยซ้ำไป ฉะนั้นขอให้ดูเจตนารมณ์ของตนตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561

วิษณุ เครืองาม

อภินิหาริย์ทางกฎหมาย: สารพัดคำกล่าวอ้าง ชักแม่น้ำ 5 สายมาตีขลุม เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ใช้การปล่อยข่าวราคาถูก หาเหตุเลื่อนเลือกตั้ง โดยโยนความล้มเหลวไปยัง กกต.ว่า พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ทว่าไร้เสียงตอบรับ กกต.แจงคิวชัดพร้อมจัดเลือกตั้ง 24 ก.พ.

พอต้นปี 2562 นายวิษณุ เครืองาม ก็เข้าหารือ กกต. ถึงขั้นตอนการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับวันเลือกตั้ง โดยระบุว่า “เราได้คุยกันว่าถ้าเลือกตั้ง 24ก.พ. จะเกิดปัญหาหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าจะเกิดปัญหาจริง หากเลือกวันที่ 3,10,17,24, หรือ 31มี.ค ได้หรือไม่ กกต.จะเอาไปคิดดู แต่การเลือกตั้งไม่ควรเกินเดือนมี.ค.นี้"

"บางคนบอกว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไปจะไม่เกิดกระทบมากกว่าหรือ บางคนบอกว่าถ้าเลือกตั้ง 3มี.ค. ต้องประกาศผล 3 พ.ค. หากเป็นวันที่10มี.ค. ประกาศผล 10 พ.ค. ก็อาจพ้นพระราชพิธี ส่วนวันที่ 17 มี.ค. ประกาศผล 17 พ.ค. เจอกิจกรรมหลังพระราชพิธี ดังนั้นถ้าจะขยับต้องให้พ้นวันเหล่านี้ออกไป ถ้าเป็นวันที่ 24มี.ค. ประกาศผล 22พ.ค. ก็อาจพ้นจากช่วงหลังพระราชพิธีไปแล้ว"

ล่าสุด นายวิษณุ ระบุเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ถึงขั้นตอนการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.ว่า “รัฐบาลยังไม่อยู่ในฐานะที่จะประกาศได้”

เมื่อถูกถามว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาหรือไม่ นายวิษณุ ระบุเพียงว่า “เอาว่า ตอนนี้ไม่อยู่ในฐานะที่ประกาศได้ ไม่ใช่เก็บเอาไว้ไม่ประกาศ ไม่อยู่ในฐานะที่ประกาศได้”

"เอาเป็นว่าประกาศในเดือน ม.ค. และการเลือกตั้งไม่เกินเดือน มี.ค. กกต.จะเป็นผู้กำหนด" นายวิษณุ ย้ำ

การเด้งรับ: มีเพียง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. คนเดียวเท่านั้น ที่ออกโรงหนุน ระบุว่า "กระบวนการเลือกตั้งจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่ทับซ้อนกับหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธี ที่มีขึ้นตลอดเดือนพ.ค.นี้"

ไม่เลื่อนเลือกตั้ง-อยากเลือกตั้ง-โบว์ ณัฏฐา

การใช้อภินิหารทางกฎหมาย และการเด้งรับของแวดล้อมเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย เพื่อนำไปสู่การเลื่อนเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 5 ปี ย่อมไม่ง่ายเหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมา คำอธิบายที่หยิบยกขึ้นมา ถูกฝ่ายการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ตอบโต้ได้ทั้งหมด ว่า การจัดการเลือกตั้งและพระราชพิธี สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนเลือกตั้ง

ทั้งยังรู้เท่าทันดักคอล่วงหน้าว่า ยิ่งหากเลื่อนไปหลัง วันที่ 10 มี.ค. ก็สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลังได้

หากมีการเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 5 ในรอบ 5 ปีของรัฐบาลคสช. ก็ยิ่งตอกย้ำว่า "อภินิหารทางกฎหมาย" และ"การเด้งรับ" เกิดขึ้นจาก "พวกเขา" ทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่เคยได้มีส่วนร่วมกำหนด "ชะตากรรม" ของตนเองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

เรื่องราวทั้งหมดตลอดเกือบ 5 ปีของยุทธวิธีการยื้อเลือกตั้งแบบเนียนๆ ภายใต้คำนิยามของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เรียกขานยุทธการนี้ว่า "ยุทธ์น็อกคิโอ" !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง