ที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน Public talk seasion 3 โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 3 โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยาย Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวว่าต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นเลือดฝอยของเมือง หรือผลักดันนโยบายในโครงการพัฒนาขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมือง โดยใช้หลักการ Nudge หรือ การดุนในลักษณะหนุนเสริมเหมือนแม่ช้างใช้งวงดุนให้ลูกช้างเดิน ไม่จำเป็นต้องบังคับด้วยการใช้กฎหมาย แต่ออกเเบบเมืองให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นด้านจิตสำนึกในลักษณะของความร่วมมือ และแม้การพัฒนาเส้นเลือดฝอยอาจดูไม่น่าตื่นเต้นเหมือนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินเป็นหมื่นล้านบาท แต่การกระจายงบประมาณมหาศาลเป็นโครงการย่อยๆ ที่เชื่อมโยงกัน จะทำให้เมืองน่าอยู่และคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ 'แอร์พอร์ตลิงค์' ซึ่งเอกชนลงทุนเอง เพื่อเชื่อมต่อเข้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงที่จอดแท็กซี่ของเอกชน อย่างมาบุญครอง ที่รัฐไม่ต้องลงทุน
ส่วนการออกเเบบเมืองขนาดเล็ก ยกตัวอย่าง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งสูงกว่าที่สหประชาชาติกำหนดเกณฑ์เมืองสีเขียว มีระบบคัดแยกขยะและกิจกรรมผู้สูงอายุ รวมถึงตัวเมืองจังหวัดยะลา ที่ประชากร 60,000 คน แต่มีพื้นที่สาธารณะ มีโรงละคร Symphony orchestra ของนักเรียนนักศึกษา มีการจัดวิ่งมาราธอนและอื่นๆ โดยเห็นว่าบทบาทของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ต้องมีวิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงความต่อเนื่องในการทำหน้าที่ อย่างนายกเทศมนตรีพนัสนิคมดำรงตำแหน่ง 6 สมัยติดต่อกัน ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองยะลา ถือเป็นผู้มีความโดดเด่นในด้านวิสัยทัศน์ที่กล้าคิดนอกกรอบอีกเช่นกัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังย้ำถึง Open Government ที่ต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายหรือทำโครงการต่างๆ ให้ประชาชนตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบาย เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ และยังจะไม่เกิดปัญหาการร้องเรียนต่างๆ ด้วยหากประชาชนเข้าถึงรายละเอียดและข้อมูลการดำเนินงานโดยเฉพาะด้านการใช้จ่ายงบประมาณ
ยกโมเดลลดพื้นที่จอดรถ ผลักดันนโยบายโรงเรียนใกล้ชุมชน
ส่วนแนวคิด เมืองอยู่ดีกินดี, เมืองเดินได้, เมืองแบ่งปัน, งานใกล้บ้าน ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านการพัฒนาเส้นเลือดฝอย สำหรับกรุงเทพฯนั้น นายชัชชาติ มองว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึง เพราะมุ่งเรื่องการจัดการขยะและปัญหาต่างๆที่สะสมหรือมุ่งแก้ไขปัญหาในอดีต โดยไม่ได้วางแผนอนาคตเท่าที่ควร พร้อมกันนี้ยกตัวอย่าง ชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง ในซอยวัดเทพลีลาย่านรามคำแหง ที่มีการจัดระเบียบอย่างสมดุล อยู่ในหลักการทำให้คนมีที่พักใกล้ที่ทำงาน รวมถึงโรงเรียนย่านคลองเตย ที่อยู่ใกล้บ้าน เด็กสามารถเดินมาโรงเรียนได้ ครูสามารถเยี่ยมบ้านเด็กได้ทุกวัน ผู้ปกครองไม่ต้องนำรถส่วนตัวมาคอยรับ-ส่งบุตรหลาน อย่างโรงเรียนในใจกลางเมือง ซึ่งทำให้มีปัญหารถติดด้วย ดังนั้นนโยบายหลักโรงเรียนที่ดีต้องกระจายลงไปทุกชุมชน
ขณะที่ การต้องพัฒนาคุณภาพรถเมล์ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยในเมือง มีผู้ใช้บริการสูงสุดวันละมากกว่า 140,000 คนตามสถิติ ขณะเดียวกันต้องพยายามลดพื้นที่ลานจอดรถบริเวณที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อเป็นเงื่อนไขให้คนไม่ต้องใช้รถส่วนตัว เพราะการมีที่จอดรถเยอะหรือการสร้างถนนเพิ่มไม่ได้แก้ปัญหารถติดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบางอย่างก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ เพราะการเป็นสมาร์ทซิตี้ นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ต้องคำนึงถึงความต้องการของคน, ภาคธุรกิจและความเป็นไปได้ อย่างป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ หรือป้ายอัจฉริยะบอกสัญญาณไฟเขียวไฟแดง ถือว่าไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้อัจฉริยะจริงๆ เพราะปัจจุบันนี้ทุกคนดู Google Map แทน ขณะที่การเรียกแท็กซี่หรือสามล้อเครื่องโดยใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถให้คะแนนผู้ให้บริการได้ถือว่า ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน
ในช่วงท้ายมีการให้ผู้ร่วมฟังการบรรยายถามคำถาม ซึ่งมีผู้ถามว่าหากนายชัชชาติ ได้เป็นผู้ว่า กทม.จะเชื่อมโยงการทำงานกับผู้อำนวยการเขตที่มีอยู่จำนวนมากอย่างไร
นายชัชชาติ ระบุว่าปัญหาของผู้อำนวยการเขตใน กทม.คือห่างเหินจากคนในพื้นที่ แต่ยึดโยงหรือขึ้นตรงต่อผู้ว่า กทม.ดังนั้นต้องมีแนวคิดในการประเมินผู้อำนวยการเขตโดยประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีผ่าน Application ต่างๆ หรือสร้างเเพลตฟอร์ม ให้คนแจ้งเหตุ ให้คะแนนความพึงพอใจและประเมิณการทำงานของ ผอ.เขตได้ แต่บางพื้นที่ อาจต้องลงพื้นที่โดยใช้แบบสำรวจเพราะบางแห่งมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีเช่นกัน และเชื่อว่าผู้อำนวยการเขตต่างๆ ก็พร้อมที่จะปรับปรุง เพียงแต่ที่ผ่านมายังกำหนดปัญหา รวมถึงนโยบายในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้มีช่องว่างดังกล่าวอยู่