วันที่ 17 พ.ค. พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึง อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ว่าตนยืนยันตามหลักการว่า ให้สนับสนุนและโหวตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชน แม้จะไม่ได้ชื่นชอบและนิยมพรรคก้าวไกล แต่ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย และเคารพเสียงของประชาชนที่เข้าคูหาเลือกตั้ง นอกจากนี้ หากหยิบยกคำอภิปรายของ ส.ว.หลายคน เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุการณ์ลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ร่างที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เห็นว่ามี ส.ว. จำนวนกว่า 60 คนที่ลงมติเห็นชอบให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
“เราก็เห็นว่าการที่สวอ 60 กว่าคนเห็นถึงปัญหาเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรานี้ ส.ว.ไม่ควรใช้อำนาจนี้ แทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล ที่ได้เสียงข้างมากจาก ส.ส.” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ตนเองพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ส.ว.ไม่ควรใช้อำนาจนี้ในการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะส.ว.ที่ยังไม่เคยลงมติเห็นชอบในยกเลิกอำนาจตัวเอง ตนเองจึงอยากบอก ส.ว.เหล่านั้นว่า หากอยากเห็นประเทศไปต่อได้ โดยไม่เจอทางตัน หรือความขัดแย้งในบ้านเมือง ก็ต้องสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะการสนับสนุนนายกฯ ที่มาจากเสียงข้างน้อย ท้ายที่สุดก็จะไม่สามารถบริหารประเทศได้ และไม่สามารถผ่านงบประมาณหรือกฎหมายได้
เมื่อถามว่า การโน้มน้าว ส.ว.อาจจะง่ายกว่าการหาเสียง ส.ส.มาเติมหรือไม่นั้น พริษฐ์ กล่าวว่า เราทำทั้งสองส่วน และหากพูดถึงตัวเลขปัจจุบัน ในบรรดาพรรคที่กำลังพูดคุยกันอยู่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลขจะอยู่ที่ 310 เสียง การบริหารประเทศก็จะยังถือว่ามีสเถียรภาพ แต่หากจะมองว่า ต้องมาจากตัวเลข 376 เสียงซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของสภา ตัวเลขก็จะมาจาก 2 ส่วนคือ จาก ส.ว. และ ส.ส. ซึ่งหากลงลึกไปแล้วเสียงของ ส.ว. 60 กว่าคนที่เคยปิดสวิตช์ ก็เพียงพอ ที่จะโหวตได้
นอกจากนี้ ตนเองยังเห็นท่าทีของสมาชิกพรรคอื่น ที่แม้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลก็ยังจะโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่า พรรคจะส่งตัวแทนไปพูดคุยกับ ส.ว.หรือไม่ พริษฐ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงเรายินดีที่จะพูดคุยอยู่แล้ว และจากการฟังคำสัมภาษณ์ของ ส.ว.หลายคน ก็มีเพียงไม่กี่คนที่แสดงความเห็นไม่โหวตเลือก พิธา ซึ่งพรรคก้าวไกลยินดีที่จะพูดคุยถึงนโยบายเพื่อให้ ส.ว.คลายข้อกังวล โดยตนเองเห็นว่า วันที่ 23 พ.ค.นี้จะมีการประชุม ส.ว.ซึ่งพรรคก็ยินดีที่จะเข้าไปตอบคำถาม และยืนยันว่า ไม่จำเป็นจะต้องให้ ส.ว.เชื่อว่าก้าวไกลตอบโจทย์ประเทศมากที่สุด แต่สิ่งที่ต้องไม่ทำคือ การขัดขวางเจตนารมย์ของประชาชน
เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคก้าวไกลตอนนี้เหมือนกับการขู่ ส.ส.จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือมีการลุกฮือตามมา พริษฐ์ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้คิดว่าท่าทีของพรรคก้าวไกลเป็นไปในทางข่มขู่ และเรายินดีพูดคุยเปิดวงสนทนาในสิ่งที่ ส.ว.กังวล และเวลาที่ตนเองพูดว่า ส.ว.โหวตเลือกนายกที่ไม่ใช่เสียงข้างมากแล้วจะเกิดทางตันนั้นไม่ใช่การข่มขู่แต่เป็นการพูดข้อเท็จจริง
“มีคนเคยบอกว่า ที่เคยให้การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ในปี 2562 เพราะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ส.ว.บางคนออกมาพูดด้วยซ้ำว่า ไม่มีทางที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ เพราะฉะนั้นเป็นแนวคิดที่อยากจะนำกลับมาอธิบาย และอย่านำตรรกะนี้มาใช้กับประชาชน
เมื่อถามว่า ส.ว.บางคนเลือกจะปิดสวิตช์ตัวเองเหมือนกันแต่ก็เลือกจะไม่โหวตพิธาเป็นนายกนั้น พริษฐ์ กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.คือ ส.ว.ไม่ควรมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการเลือกนายกควรจะมาจาก ส.ส.ดังนั้นการใช้คำว่า ปิดสวิตช์ ส.ว.ต้องมองออกเป็น 2 ส่วน คือการทำให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ เลย แต่ในเมื่อเสนอแก้ไขกฎหมายไปเท่าไรก็ไม่เคยผ่าน ทำให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ในความหมายของวันนี้ที่ยังมี ม.272 อยู่ คือการที่ ส.ว.โหวตให้นายก และรัฐบาลที่ครองเสียงข้างมาก
“การงดออกเสียงไม่เท่ากับการปิดสวิซต์ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญไปกำหนดว่าต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาที่ลงมติ มันเป็นการขัดขวางทำให้นายกที่มาจากเสียงข้างมาก มีอุปสรรคได้”
เมื่อถามว่า กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ พิธา ทั้งเรื่องการถือหุ้นสื่อ และ ม.112 เหมือนเป็นการพุ่งเป้าไปที่พรรคก้าวไกลจะมีผลต่อการจัดรัฐบาลหรือไม่ พริษฐ์ กล่าวว่า เรายินดีเข้าไปพูดคุยอยู่แล้ว ทั้งพูดคุยในกรรมการที่ตั้งขึ้นมาและในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งตนเองเข้าใจว่า มีข้อเท็จจริงบางส่วน ที่ ส.ว.เข้าใจคาดเคลื่อน เพราะฉะนั้นประเด็นทั้งคุณสมบัติของนายก และนโยบายพรรค เราเชื่อว่าหา ส.ว.ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเข้าใจ
พร้อมยอมรับว่า ยังมี ส.ว.บางคนที่กังวลใจ แต่ก็มั่นใจว่าจะเข้าใจ และไม่ได้หวังให้มานิยมชมชอบพรรคก้าวไกล แต่ก็อยากให้ ส.ว.เคารพเสียงของประชาชน