ไม่พบผลการค้นหา
คำว่า ‘ประชานิยม’ เริ่มหนาหูเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย ‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน’ แต่ดูเหมือนคราวนี้มันสิ้นความขลังลง เพราะพรรคไหนๆ ก็พูดเรื่องนี้กันหมด การถกเถียงจึงขยับสู่ ‘เนื้อหา’ มากขึ้น ทั้งความเป็นไปได้หรือข้อกังวล

‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ครอบคลุมประชากรแค่ไหน? ปัจจุบันคนที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำมีอยู่ราว 4-6 ล้านคน (แล้วแต่วิธีสำรวจ) และโดยมากจะเป็นแรงงานต่างด้าว การบังคับใช้ก็จะทำเฉพาะกับสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเท่านั้น เรียกว่าต้องมีการจดทะเบียนทางการ มีการทำสัญญาจ้างงานกับลูกจ้าง มีการจ่ายประกันสังคม ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การปักหมุด ‘ขั้นต่ำ’ ก็เหมือนวงคลื่นที่จะกระเพื่อมสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมบางส่วนแสดงความกังวลในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศเพิ่งโงหัว บางส่วนไม่กังวลนัก เพราะเป็นการตั้งเป้าในอีก 4-5 ปี  ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ เสนอในกรอบการมองแรงงานในฐานะ ‘มนุษย์’ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ‘ทำได้จริง’ เพราะมีเมนูนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต

ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมาย ‘วอยซ์’ พาไปคุยกับผู้มีส่วนกำหนดค่าจ้างตัวจริง คือ ‘ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ’ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทำความเข้าในระบบกำหนดค่าจ้างที่ผ่านมา ข้อกังวลต่างๆ ว่าน่าคิดต่อหรือไม่เพียงใด

ผศ.ศุภชัย ตั้งต้นให้นิยาม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ให้ตรงกันเสียก่อนว่า มันคือค่าแรงสำหรับ

  • แรงงานคนเดียว ไม่รวมครอบครัว
  • เป็นแรงงานแรกเข้าหรือเพิ่งทำงาน ยังไม่มีฝีมือหรือประสบการณ์

"แรงงานที่เข้ามาอาจเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ที่สถานประกอบการต้องเอามาฝึก เมื่อมีฝีมือจึงขยับตัวค่าจ้างเพิ่มขึ้น" ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างกล่าว

เรื่อง 'นิยาม' เป็นประเด็นตั้งต้นของความแตกต่าง เพราะนโยบายพรรคการเมือง หรือการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์อีกแนวหนึ่งกำลังพูดถึง คือ ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ซึ่งมีนิยามว่า ค่าแรงที่แรงงานได้รับเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ‘และครอบครัว’ ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นิยาม ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ นั้นล้อไปกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี แต่จริงๆ แล้วไทยเองตอนกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ก็ใช้นิยามนี้แหละ แต่ใช้ได้ 2 ปี นิยามก็ถูกปรับมาให้ครอบคลุมแค่ ‘แรงงาน 1 คน’ ไม่นับครอบครัว  


แล้วเขากำหนด ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ กันยังไง ?

‘คณะกรรมการไตรภาคี’ หรือตัวแทน 3 ฝ่าย นายจ้าง-รัฐ-ลูกจ้าง จะเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ไหนแต่ไรมา โดยไม่ได้มีสูตรคำนวณแน่ชัด เน้นการเจรจาต่อรองและดูตัวแปรอย่างเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว 

Rocket Media Lab ทำการรวบรวมการขึ้นค่าแรงพบว่า

  • ช่วงปี 2530-2540 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นราวปีละ 7-15 บาท 
  • ช่วงปี 2540-2550 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นราว 3-7 บาทเท่านั้น
  • จุดที่กระโดดจริงจังคือ ปี 2555 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ขึ้นพุ่งทะยาน 85 บาท โดยแบ่งการประกาศขึ้นค่าแรงเป็น 2 รอบ 

ผศ.ศุภชัยระบุว่า นับตั้งแต่ยุคยิ่งลักษณ์มา คณะกรรมการค่าจ้างจึงมี ‘ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ’ ที่มาช่วยจัดทำสูตรการคำนวณบนหลักวิชาการ และให้ครอบคลุมครบถ้วนตามมาตรา 87 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และแต่ละพื้นที่ก็จะมีค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน

"วิธีการได้มาซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1. อนุกรรมการฯ จังหวัดซึ่งเป็นไตรภาคี นายจ้าง-ลูกจ้าง-ภาครัฐ จะนั่งคุยกันกำหนดขึ้นมา 1 ตัวเลขพร้อมเหตุผล 2. เข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการฯ วิชาการ 3.เข้าสู่กรรมการชุดใหญ่ ซึ่งผมอยู่ในนั้น หลักในการขึ้นค่าจ้างในปัจจุบันจะมีสูตร ทีมผมเป็นคนคิดสูตรขึ้นมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วหลังจากที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตอนที่ขึ้นครั้งแรกหลัง 300 ไปแล้ว เราคิดสูตรกันที่เป็นหลักการทางวิชาการ สูตรมีความไหวตัวอยู่ สามารถปรับได้ตามเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ของพื้นที่ ตามม.87 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน"

“เราปรับตามสูตร ข้อคิดเห็น และพื้นที่ข้างเคียง ในกลุ่มจังหวัดเดียวกันไม่ควรต่างกันเยอะเพราะจะเกิดการไหลของแรงงาน เพราะฉะนั้นในกระบวนการไตรภาคีนั้นคุยกันรู้เรื่อง มีที่ปรึกษาอีก 5 คนนั่งอยู่ การได้มาซึ่งข้อตกลงตรงเข้าหลัก ILO ทุกอย่าง โดยหลักการแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็แทรกแซงไม่ได้” ผศ.ศุภชัยระบุ

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สภาพัฒน์ระบุว่า อุตสาหกรรมที่กระทบเยอะได้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกำลังอยู่ในช่วงขาลง เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง ส่วน ธปท.ระบุรวมไปถึงอุตสาหกรรมพลาสติก เหล็ก แต่คราวนี้ ผศ.ศุภชัยระบุว่า กลุ่มที่ลำบากน่าจะเป็น SMEs เพราะต้องแบกต้นทุนเป็นรายวัน แต่มาตรการที่รัฐช่วยทางภาษีนั้นเป็นรายปี และอาจรวมไปถึงเกษตรกรรม เหมืองแร่

ทำไมค่าแรงขั้นต่ำ แต่ละพื้นที่ต้องไม่เท่ากัน ?

ผศ.ศุภชัย ตอบว่า เพราะหากกำหนดให้ทุกพื้นที่เท่ากัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่เท่ากัน สถานประกอบการก็คงไม่มีใครอยากไปลงทุนไกลแล้วเสียต้นทุนที่แพง เพราะนโยบายรัฐก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ออกไปไกล ปัจจัยทั้งหลายนี้เอามาคำนวณในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ามีการแทรกแซงค่าจ้างขั้นต่ำให้หลุดออกจากกรอบ ก็ต้องมีเหตุผลพอสมควรว่าทำไมถึงจะหลุดจากกรอบนั้น

"นโยบายที่เสนอมา ไม่ได้บอกว่าไม่ดี ถ้าเศรษฐกิจโต แล้วค่าจ้างปรับตัวตามเงื่อนไขที่ควรจะเป็น คือ ผู้ประกอบการอยู่ได้ แรงงานมีศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างในเรทนั้น"


ปรับขั้นต่ำ ก็ต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งหมด

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงค่าจ้างสำหรับ "คนแรกเข้า" การปรับค่าแรงเพิ่มอาจต้องดูว่าจะกระทบคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าปรับเป็น 350 บาท มีคนที่ได้ต่ำกว่า 350 บาทอยู่เท่าไร นั่นแปลว่าสถานประกอบการต้องขยับหมด

"ปัญหาอยู่ที่ว่า มีคนอายุงานไม่เท่ากันอยู่ในนั้น การขยับแบบปรับฐานให้เท่ากันหมด แปลว่า เรากำลังทรีตว่าประสบการณ์การทำงานของคนไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะเวลาสถานประกอบการขยับตอน 300 บาท คนได้ใกล้ 300 ก็ขยับเป็น 301 บาท ส่วนคนต่ำกว่า 300 ก็ขยับเป็น 300 แล้วบอกว่า 1 บาทนี้เป็นค่าประสบการณ์ เราไม่อยากเห็นแบบนั้น เราอยากเห็นเป็นขั้นบันไดขึ้นไป คนประสบการณ์เยอะต้องบวกเยอะ แต่มันไม่ได้ขยับแบบนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำโครงสร้างค่าจ้าง สิ่งที่เขาทำคือ ให้ค่าจ้างขั้นต่ำไปเรื่อยๆ"

"จริงๆ ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าขึ้นไปรอคือ กรณีที่ต้นทุนของสินค้ามันสูงขึ้นผ่านกระบวนการที่มีค่าจ้างสูงขึ้น ถ้าปรับค่าจ้างราคาสินค้าก็จะสูงขึ้น ถ้ากิจการไหนใช้แรงงานเข้มข้นก็ควรต้องปรับราคาเยอะเพราะต้นทุนมันเป็น % ในสัดส่วนสูงกว่า คำถามคือ ถ้าเราไม่ปรับให้คนที่เกินค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นด้วย อำนาจซื้อของคนกลุ่มนั้นก็จะลดลงโดยเปรียบเทียบ"


เตรียมรับมือการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน 

ศุภชัยอธิบายต่อไปอีกว่า ผลบังคับใช้ของค่าจ้างขั้นต่ำ คือบังคับสถานประกอบการให้จ้างในราคาเท่านั้น ฉะนั้น สถานประกอบการมีทางเลือกอื่นคือ 'ไม่จ้าง' ถ้าคิดว่าแรงงานทำรายได้ให้เขาไม่คุ้มกับ 18,000 บาทต่อเดือนกรณีคิด 600 บาทต่อวัน หรือไม่เช่นนั้นอาจเกิดการ 'เปลี่ยนสภาพการจ้างงาน' ตรงนี้หลายคนไม่ค่อยพูดถึง เช่น เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างทำของแทน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน แรงงานก็จะขาดการได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างแบบเดิม ฉะนั้น สถานประกอบการก็อาจไม่จ่ายประกันสังคมก็ได้ เพราะมันไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานแล้ว แต่เป็นจ้างทำของ ผมถึงไม่ห่วงสถานประกอบการ แต่คนที่น่าห่วงคือ ตัวแรงงาน

หรืออีกแบบหนึ่ง สถานประกอบการก็ 'เลือกเอาเทคโนโลยีมาใช้แทน' ในเมื่อรู้ว่าแรงงานต้องปรับราคาขึ้นตลอดก็ใช้เครื่องจักรแทนเลย

"ยังไม่ได้นับต่อว่า ถ้าปรับฐานเป็น 600 แปลว่า ค่าสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ จะตามมา เช่น ค่าประกันสังคม การจ่ายโบนัส แต่บทเรียนตอน 300 นายจ้างก็ฉลาด แปลงสวัสดิการที่เคยให้ฟรีต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่แรงงานต้องจ่ายเอง เช่นของเดิมเคยมีข้าวให้ มีที่อยู่อาศัยให้ ก็ชาร์จค่าข้าว ค่าที่อยู่อาศัย นายจ้างเองมีวิธีการในการปรับรูปแบบ ถ้าปรับเยอะ นายจ้างหาตัวมาชดเชยไม่ได้ นี่คือสิ่งที่นายจ้างจะโวย แต่ถ้ามีเวลา เดี๋ยวนายจ้างก็หาทางได้"


นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไม่น่ากังวล - 'ฝีมือ' แรงงานต่างหากน่ากังวล

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายพูดว่าค่าแรงขึ้นอุตสาหกรรมหรือนักลงทุนจะเลือกไปประเทศที่ค่าจ้างถูกกว่า ศุภชัยตอบว่า อย่าคิดว่ากดราคาค่าจ้างแรงงานไว้แล้วเขาจะอยู่ ประเด็นคือ เขาเทียบแล้วว่า แรงงาน 1 คน มูลค่าผลผลิตที่ทำได้เป็นเท่าไร ถ้าจ่าย 600 ผลผลิตที่ทำได้ 400 เขาวิ่งไปประเทศที่จ่าย 350 แล้วฝีมือพอกันย่อมดีกว่า

"นี่คือเหตุผลของการย้ายฐาน ไม่ใช่ว่าค่าแรงเราสูงแล้วเขาจะย้ายฐาน ถ้าค่าแรงสูงแล้วสามารถส่งมอบผลผลิตได้ตามมูลค่าที่เขาพึงได้เขาก็อยู่"

ศุภชัยสรุปว่า ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่จ่ายสำหรับแรงงานแรกเข้านั้นเป็นการจ่ายให้กับแรงงานต่างด้าวเสียเยอะโดยสัดส่วน เพราะสำหรับคนไทยที่มีฝีมือ ค่าจ้างได้เกินอยู่แล้ว

"ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนประกาศนโยบายก็ต้องให้ชัดว่า"ค่าจ้าง" "ค่าแรง" หรือ "ค่าจ้างข้้นต่ำ" เพราะถ้าค่าจ้างเฉลี่ยจริงๆ นโยบายอาจไม่ได้หวือหวามาก แต่ถ้าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำใช้กับแรงงานแรกเข้า ผลกระทบเบื้องต้นจะมีลักษณะนี้"

"อีกคำถามที่สำคัญคือ เราขึ้นทั้งหมดทั้งที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพของอุตสาหกรรม สภาพของพื้นที่ บางอุตสาหกรรมจ่ายได้อยู่แล้ว บางอุตสาหกรรมไม่ได้ ถ้าเป็นนโยบายที่ไม่มีอย่างอื่นรองรับ จะทำให้โครงสร้างค่าจ้างค่าตอบแทนผิดเพี้ยนไปในเชิงวิชาการ"

"ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือโครงสร้างค่าตอบแทนที่เหมาะสม สถานประกอบการอาจบอกว่าสตาร์ที่ 600 ไม่ว่ากัน แต่เมื่อเขาทำงานไประดับหนึ่งแล้วคุณต้องปรับค่าจ้างให้เขาตามฝีมือเขา และต้องมีโอกาสให้แรงงานไปพัฒนาฝีมือ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ควรจะเป็น สิ่งที่รัฐพึงกระทำคือ ทำอย่างไรให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาฝีมือ ไม่ใช่ขึ้นกับนายจ้างอย่างเดียว เรื่องอัพสกิล รีสกิล น่าจะต้องมาคุยกัน นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น"


ความเสี่ยงของการตั้งเป้ายาว

ศุภชัยระบุว่า ประเด็นที่เป็นห่วงก็คือ timing ในการประกาศมากกว่า เพราะปกติช่วงเวลาของการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำจะประกาศใกล้ปลายปี เพื่อให้เกิดการเตรียมการของฝั่งนายจ้าง เช่น ทำบัญชีลูกจ้างใหม่ ทำงบการเงิน ทำระบบต่างๆ

"ถ้าประกาศในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่นประกาศในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นักลงทุนอยากเข้ามาเขาก็ต้องคิดใหม่ว่าระยะยาวจะเข้ามาไหม คุ้มไหมกับการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด เราไม่ได้กังวลเรื่องนักลงทุนย้ายฐานเพราะเขาย้ายฐานอยู่ตลอด เขาไปตามที่กำไรเขาสูง ซึ่งปัจจัยค่าจ้างเป็นตัวหนึ่งของการเปรียบเทียบ แต่นอกเหนือจากปัจจัยค่าจ้าง ตัวหนึ่งที่เขาใช้คือ ฝีมือของแรงงาน ถ้าฝีมือแรงงานสูงเหมาะสมกับธุรกิจของเขา จ่ายแพงเท่าไรเขาก็มา"

"ช่วงเวลาในการประกาศจึงสำคัญ แต่มันเป็นช่วงเลือกตั้งก็เข้าใจ ทุกพรรคก็คงแข่งกัน แต่ว่าโดยหลักวิชาการแล้ว ถ้าประกาศอะไรในแง่ที่เป็นระยะยาวของเชิงเศรษฐกิจ ก็จะเกิดผลของการตัดสินใจแบบอิหลักอิเหลื่อ นึกถึงช่วงโควิด ทุกคนไม่ใช้ตังค์ ไม่มั่นใจ ไม่รู้จักเรื่องนี้ ไม่รู้จะเกิดอะไร ฉะนั้นเราชะลอการใช้เงินจนกว่าจะมั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้น การประกาศอย่างนี้ สิ่งที่เกิดคือสถานประกอบการอาจต้องคิดใหม่อีกรอบ"

“ทุกเซ็กเตอร์ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมด การลงทุนต่างกันแต่ต้องจ้างแรงงานในราคาเดียวกันก็เป็นปัจจัยเสี่ยง และไม่ได้การันตีว่าจะได้ผลผลิตจากแรงงานภาคเกษตรสูงกว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรม”

“ถ้าไม่ใช้กลไกตลาด แล้ว fix แบบนี้ มันเป็นความสุ่มเสี่ยง ถ้าทำให้เศรษฐกิจโตได้ เรื่องนี้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำให้ทุกเซ็กเตอร์โตไปพร้อมกันและโตทุกพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย” ศุภชัยสรุป

 
นโยบายอื่นๆ ของแต่ละพรรคจะเป็นจริงแค่ไหน?

ฟังคำอธิบายภาพรวมของ ผศ.ดร.ศุภชัยแล้ว ดูเหมือนคำตอบต่อความกังวลจะมีอยู่แล้วในข้อกังวลนั้นเอง หากพรรคการเมืองมีสเถียรภาพและมีความสามารถมากพอในการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตในภาพรวม ผลกระทบต่างๆ ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะไม่แผงฤทธิ์หรือสร้างผลกระทบน้อย ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเพ่งตามองไปที่นโยบายอื่นๆ ให้มากขึ้นว่าพรรคไหนมีรายละเอียดจับต้องได้ และดูมีความสามารถทำให้เป็นไปได้ เช่น

  • การส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจแบบกระจายตัว : สร้างอนาคตไทยมาด้วยคอนเซ็ปท์ 77 engines, พลังประชารัฐน่าจะยังอยู่กับ EEC ที่ทำไว้แต่ยังไม่เห็นผล, เพื่อไทยเสนอการเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาค และ Business Zone เป็นต้น
  • การพัฒนาฝีมือแรงงาน การปรับตัวหากมีการใช้เทคโนโลยีหรือ AI มากขึ้น : เรื่องนี้พูดถึงกันไม่มากนัก ก้าวไกลเสนอเรื่องคูปองมูลค่า 5,000 บาทสำหรับแรงงานที่ต้องการพัฒนาทักษะใดๆ ก็ได้, พรรคเพื่อไทยดันเรื่องศูนย์อบรม soft power ทั่วประเทศ เป็นต้น
  • การช่วยเหลือ-พัฒนา SMEs : เพื่อไยจะสร้างโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) ของไทยเองในการขายสินค้าเกษตร รวมทั้งสินทรัพย์ที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนเป็นช่องทางเงินทุนให้กับนักธุรกิจรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น Start up หรือ SME, สร้างอนาคตไทยจะตั้งกองทุน SME 1 แสนล้าน, ไทยสร้างไทยจะปลดล็อกกฎหมายอุปสรรคนับพันฉบับและตั้งกองทุน SME พร้อมพักหนี้, ก้าวไกลเสนอตั้งโควตาสินค้า SME ในห้างใหญ่ ลดภาษี ช่วยการเข้าถึงทุน เป็นต้น
  • การส่งเสริมภาคเกษตร ซึ่งมีกำลังแรงงานอยู่จำนวนมาก : ประชาธิปัตย์ยังคงเน้นย้ำนโยบายประกันรายได้เกษตรกร, เพื่อไทยเน้นการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การเกษตร การใช้ตลาดนำ และลดต้นทุนการผลิตอย่างปุ๋ย, ภูมิใจไทยเน้นประกันราคาพืชผลหลัก และไปถึงขั้นจะทำ ‘เกษตรพันธสัญญา’ หรือ Contract Farming แต่ยังไม่เห็นรายละเอียด
  • เป้าหมายอุตสาหกรรม/บริการ ในระดับยุทธศาสตร์ที่จะผลักดัน

ฯลฯ