ไม่พบผลการค้นหา
'สุริยะ' จ่อคุย 'เจโทร' สัปดาห์หน้า ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นอยู่ไทยต่อ พร้อมหารือนักลงทุนจีน เสนอไทยเป็นปลายทางลงทุนหนีสงครามการค้าจีน-สหรัฐ สั่ง กพร. จัดหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองทั่วประเทศ ช่วยประชาชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ เพื่อมอบนโยบาย ว่า ภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมพบกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร เพื่อรับฟังความคิดเห็นในฐานะที่ใกล้ชิดกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่ามีความต้องการอะไรเป็นพิเศษที่อยากให้ไทยช่วยเหลือเพิ่มเติมบ้าง หรือมีอะไรไม่สบายใจ เพื่อขอให้อยู่ลงทุนต่อ และลงทุนใหม่ หลังที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม 

นอกจากนี้ จะออกไปพบนักลงทุนจีน หลังนักลงทุนบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหลายโรงงานกำลังจะย้ายฐานการผลิตเพื่อลดผลกระทบ โดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม เนื่องจากไทยมีศักยภาพ พื้นที่ และแรงงานสนับสนุน แต่ในส่วนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนจะมีการพิจารณาก่อนว่าให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมมากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้อยู่เดิมหรือไม่ เพื่อจูงใจให้ย้ายฐานการผลิตมาไทย เบื้องต้นคาดว่าแผนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการหลังแถลงนโยบายฯ

ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของผู้ประกอบการไทย กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เพื่อเปิดทางให้กับผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนผลิตส่วนประกอบที่สำคัญในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ขณะเดียวกันจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่ออนุมัติกรอบวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มเติม

เหมือง-น้ำ

ออกนโยบายนำ 'น้ำจากขุมเหมือง' ที่มีไม่ต่ำกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร รับมือภัยแล้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกำหนดนโยบายนำน้ำจากขุมเหมืองทั่วประเทศ ช่วยเหลือประชาชนรับมือภัยแล้ง โดยกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน โดยได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองทั่วประเทศ สำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยให้ประสานกับผู้ประกอบการเหมืองแร่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน 

ส่วนน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วและปิดกิจการไปแล้ว ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันมีพื้นที่ประทานบัตรที่มีศักยภาพสามารถนำน้ำมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง ไม่น้อยกว่า 200 แปลง มีปริมาตรน้ำไม่น้อยกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไปสำรวจและประสานกับผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำในขุมเหมืองมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาในบางพื้นที่มีการนำน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วไปใช้เพื่อการอุปโภค แหล่งประมง และการทำเกษตรกรรมแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด อ.ลี้ จ.ลำพูน ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด อ.เมือง จ.ตาก เป็นต้น

"การนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน ถือเป็นการใช้ทรัพยากรด้านพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งถือเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเหมืองแร่กับประชาชนในการรับมือกับภัยแล้ง เพื่อการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมเหมืองแร่และชุมชนได้เป็นอย่างดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :