องค์กรการกุศลอ็อกแฟมเผยแพร่รายงานดังกล่าวก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารในสัปดาห์หน้า โดยรายงานนี้ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ปรากฏออกมาอย่างรวดเร็วนั้นรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 จากการประเมินแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะในฉากทัศน์แบบไหนความยากจนทั่วโลกก็อาจเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ซึ่งนี่อาจทำให้บางประเทศถอยหลังไปสู่ระดับความยากจนที่เคยเห็นครั้งสุดท้ายประมาณ 3 ทศวรรษที่แล้ว
งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และใช้ฉากทัศน์จำนวนหนึ่งโดยพิจารณาจากเส้นความยากจนหลายระดับตามคำจำกัดความของธนาคารโลก ตั้งแต่ความยากจนแบบรุนแรงที่หมายถึงมีรายได้ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันหรือต่่ำกว่า ไปจนถึงมีรายได้ 5.50 ดอลลาร์ต่อวันหรือต่ำกว่า ซึ่งภายใต้ฉากทัศน์ที่ร้ายแรงที่สุดคือรายได้ลดลงร้อยละ 20 จำนวนประชากรที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงจะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคนทั่วโลกเป็น 922 ล้านคน และในเงื่อนไขเดียวกันนี้ จำนวนคนที่ต้องใช้ชีวิตโดยมีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันจะเพิ่มขึ้นมาอีก 548 ล้านคน รวมเป็นเกือบ 4,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าที่จะทำงานในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการโดยเข้าถึงสิทธิการจ้างงานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
รายงานของอ็อกแฟมยังได้เสนอ 6 แผนดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ทั้งการมอบเงินสดและความช่วยเหลือทางการเงินให้กับประชาชนและธุรกิจที่มีความต้องการ และยังเรียกร้องให้มีการยกหนี้ มีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากไอเอ็มเอฟและเพิ่มความช่วยเหลือ รวมถึงเก็บภาษีความมั่งคั่ง ผลกำไรพิเศษและผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อเก็งกำไรเพื่อช่วยระดมทุนที่จำเป็น
ทั้งนี้ เสียงเรียกร้องให้มีการบรรเทาหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจากผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารโลกก็ระบุว่า เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเพียงภูมิภาคเดียวก็อาจมีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน หากสถานการณ์เลวร้ายลง
'โฮเซ่ มาเรีย เวรา' รักษาการผู้อำนวยการบริหารระหว่างประเทศของออกซ์แฟมระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ทั่วโลก แต่สำหรับประชากรยากจนในประเทศยากจนที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดอยู่แล้ว ก็แทบจะไม่มีตาข่ายนิรภัยที่ช่วงหยุดพวกเขาไม่ให้ตกลงไปสู่ความยากจน พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G20 ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ให้มอบการอัดฉีดเงินสดอย่างทันทีให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ในการช่วยเหลือชุมชนยากจนและเปราะบาง โดยรายงานของอ็อกแฟมยังระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องระดมเงินให้ได้อย่างน้อย 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา
อ้างอิง CNA/The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: