นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏว่า มาตรการขอความร่วมมือจากบริษัทล้อยางนำยางพาราในประเทศไปผลิตเป็นวัตถุดิบการผลิต แต่มีการกำหนดเงื่อนไขกีดกันบางบริษัททำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
กยท.ขอชี้แจงว่าได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังเชิญชวนให้ผู้ผลิตล้อยางที่มีมาตรฐานการผลิตในประเทศไทยทุกรายเข้าร่วมโครงการดังกล่าวระหว่างวันที่ 16 ธ.ค. 2561 - 15 ม.ค. 2562 โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผลิตล้อยางเข้าร่วมโครงการแสดงหลักการซื้อยางพาราวัตถุดิบในการผลิตยางจากสถาบันเกษตร หรือ กยท.โดยตรง
จากนั้น กยท. จะออกหลักฐานเป็นคูปองให้บริษัทนั้นๆ เพื่อใช้ในการร่วมโครงการช็อปช่วยชาติ โดยประชาชนที่ซื้อยางรถยนต์, ยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยาน ในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ พร้อมคูปองซึ่งร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายยางจะออกให้มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
แต่มีบริษัทล้อยางบางบริษัทระบุว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ กยท.ได้ เพราะเมื่อซื้อวัตถุดิบคือยางพาราแล้วต้องส่งตัวอย่างยางพาราดังกล่าวไปให้บริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศตรวจสอบคุณภาพและรับรอง ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เลยช่วงเวลาของโครงการช็อปช่วยชาติ ประกอบกับเกรงว่าสถาบันเกษตรกรหรือกยท.อาจจะส่งมอบวัตถุดิบไม่ตรงตามกำหนดเวลา บริษัทเหล่านั้นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ โดยขอซื้อยางพาราจากบริษัทเอกชนคู่ค้าประจำที่มีสัญญาซื้อขายกันอยู่แล้วและบริษัทคู่ค้าดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพจากบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้วด้วย
นายณกรณ์ กล่าวว่า ได้นำข้อเสนอของบริษัทเสนอต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกฤษฎาให้ข้อคิดเห็นว่าหากอนุมัติให้บริษัทที่ไม่ได้ซื้อยางพาราโดยตรงจากสถาบันเกษตรกรหรือ กยท. อาจขัดกับมติ ครม.หรือนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการซื้อยางพาราโดยตรงจากเกษตรกร ประกอบกับ หากบริษัทที่ขายยางพาราให้กับบริษัทผลิตยางล้อนั้น ไปเอายางพาราในโกดังของบริษัทที่ซื้อตุนเก็บไว้ก็จะไม่เป็นการดูดซับยางออกจากตลาด ทำให้ไม่มีผลต่อการรักษาเสถียรภาพราคายางตามนโยบายของรัฐบาล
ล่าสุดมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท IRC จำกัด บริษัท Maxxis จำกัด บริษัท N.D Rubber จำกัด กลุ่มบริษัท ดีสโตน จำกัด กลุ่มบริษัท โอตานิ จำกัด บริษัท จงเช่อ รับเบอร์ จำกัด กลุ่มบริษัท V-Rubber จำกัด ยอดสั่งซื้อยางรวมทั้งสิ้น 2,642,110 กิโลกรัม
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวรับซื้อยางพาราจากสหกรณ์ที่ กยท. รับรอง 5 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยาง คลองปาง จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยาง หนองบัว จำกัด จังหวัดตรัง สหกรณ์กองทุนสวนยาง ปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด จังหวัดชุมพร สหกรณ์กองทุนสวนยาง เขาซก จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยาง บ่อทอง จำกัด จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการรวบรวมยาง แปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นดิบและยางแท่งที่ได้คุณภาพตามที่บริษัทล้อยางกำหนดมาตรฐานไว้