ไม่พบผลการค้นหา
นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน พร้อมอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาประธานอาเซียน เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์บรูไน หารือสถานการณ์เมียนมา ปัญหายาเสพติด-อาชญากรรมไซเบอร์ สกุลเงินดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคให้พัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้เผยภาพและข้อความผ่านโซเชียลมีเดียวันนี้ (18 ก.พ.2568) ถึงการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศบรูไน ร่วมกับ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาของประธานอาเซียนมาเลเซีย โดยสรุปได้ว่า

การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ กับสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านแห่งบรูไน โดยมี อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาของประธานอาเซียนมาเลเซีย ร่วมเข้าเฝ้าฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

โดยได้มีการหารือในประเด็นที่น่าสนใจกับ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านแห่งบรูไน ซึ่งเป็นผู้นำอาเซียนที่อาวุโสที่สุดและมีประสบการณ์ล้ำค่าอย่างมากในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับอาเซียน

เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา มีความเห็นว่า แม้เมียนมาจะยังคงยึดมั่นตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ในการประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาจากธุรกิจผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการฉ้อโกง หลอกลวง อาชญากรรมทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ  ซึ่งมีการเสนอในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่จัดขึ้นช่วงวันที่ 18 - 19  เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ เมืองลังกาวี ที่จะต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

สำหรับประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เห็นว่าควรมีการเจรจาทางการทูตแบบพหุภาคีมากขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะมีความคืบหน้าหาข้อสรุปในการเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (ซีโอซี) ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นสกุลเงินดิจิทัล ได้มีการหารือถึงความสำคัญของการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชนในภูมิภาค เพื่อผลักดันให้อาเซียนก้าวหน้าและทันสมัยยิ่งขึ้น