ไม่พบผลการค้นหา
ทางการอิหร่านเรียกตัวทูตฝรั่งเศสเข้าชี้แจง จากกรณีสิ่งตีพิมพ์ภาพล้อเลียน อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของประเทศ ในนิตยสารเสียดสีชื่อดังของฝรั่งเศสอย่าง ชาร์ลี เอ็บโด ทั้งนี้ กระทวงการต่างประเทศอิหร่านระบุว่า สิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว “จะไม่ถูกปล่อยออกไปโดยปราศจากการตอบรับที่เป็นผล”

ชาร์ลี เอ็บโด นิตยสารรายสัปดาห์ตีพิมพ์การ์ตูนหลายสิบเรื่อง โดยมีเนื้อหาล้อเลียนบุคคลสำคัญทางศาสนาและการเมืองในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นการสนับสนุนขบวนการประท้วงสิทธิสตรี และการประท้วงต่อต้านผู้ปกครองในอิหร่านเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว

ในช่วงวันพุธที่ผ่านมา (4 ม.ค.) กระทรวงต่างประเทศของอิหร่านกล่าวว่า กระทรวงได้เรียกตัว นิโคลาส โรช ทูตฝรั่งเศสประจำอิหร่านเข้าพบเพื่อชี้แจง “ฝรั่งเศสไม่มีสิทธิ์ดูถูกความศักดิ์สิทธิ์ของประเทศและชาติมุสลิมอื่นๆ ภายใต้ข้ออ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก” นาสเซอร์ คานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าว “อิหร่านกำลังรอคำอธิบายของรัฐบาลฝรั่งเศส และมาตรการชดเชยในการประณามพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศส”

โฮสเซน อาเมียร์-อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “การกระทำที่ดูถูกและไม่เหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศส ในการเผยแพร่การ์ตูนที่ต่อต้านผู้มีอำนาจทางศาสนาและการเมือง จะไม่ถูกปล่อยออกไปโดยปราศจากการตอบรับที่เป็นผลและเด็ดขาด” เขากล่าวเสริมอีกว่า “เราจะไม่ยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสทำเกินขอบเขต พวกเขาเลือกเส้นทางที่ผิดอย่างแน่นอน”

ชาร์ลี เอ็บโด ซึ่งเป็นนิตยสารที่เป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ถูกผู้สนับสนุนมองว่าเป็นสื่อผู้สนับสนุนเสรีภาพทางคำพูด และถูกนักวิจารณ์มองว่าตีพิมพ์เนื้อหาที่เป็นการยั่วยุโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสประสบกับเหตุสะเทือนขวัญในเดือน ม.ค. 2558 โดยนิตยสารดังกล่าวตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายอิสลามสุดโต่งที่เข้าทำการโจมตีอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าต้องการล้างแค้นต่อการตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของอิสลาม

ทั้งนี้ ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับล่าสุด ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนของผู้ชนะการประกวดการ์ตูนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประกวดถูกขอให้วาดการ์ตูนล้อเลียนที่น่ารังเกียจที่สุดของคาเมเนอี ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่านมาตั้งแต่ปี 2532 โดยหนึ่งภาพการ์ตูนที่เข้ารอบสุดท้ายเป็นภาพนักบวชโพกหัวเอื้อมมือไปที่คล้องบ่วงของเพชฌฆาตในขณะที่เขานอนจมกองเลือดอยู่ ขณะที่อีกภาพการ์ตูนหนึ่งเป็นรูปของคาเมเนอีกำลังเกาะอยู่บนบัลลังก์ขนาดยักษ์เหนือหมัดของผู้ประท้วงที่ชูขึ้น ภาพการ์ตูนอื่นๆ ยังมีฉากที่หยาบคายและส่อไปในเรื่องทางเพศด้วย

“มันเป็นหนทางในการแสดงการสนับสนุนของเรา ต่อชายหญิงชาวอิหร่านที่เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องเสรีภาพของตัวเอง จากระบอบเทวาธิปไตยที่กดขี่พวกเขามาตั้งแต่ปี 2522” โลรองต์ ซูริสโซ ผู้อำนวยการของ ชาร์ลี เอ็บโด หรือที่รู้จักในชื่อ ริสส์ เขียนในบทบรรณาธิการ พร้อมระบุว่าภาพการ์ตูนทั้งหมดที่ถูกตีพิมพ์มี “ความดีความชอบในการท้าทายอำนาจที่ผู้นำสูงสุดอ้างว่ามีอยู่ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้รับใช้ของเขาและลูกน้องคนอื่นๆ”

นาตาลี ลูโซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส และอดีตรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้สนับสนุน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกการตอบสนองของอิหร่านว่าเป็น “ความพยายามแทรกแซงและคุกคาม” ต่อ ชาร์ลี เอ็บโด “พูดให้ชัดเจนไปเลยว่า ระบอบการปกครองแบบกดขี่และระบอบเทวาธิปไตยในกรุงเตหะราน ไม่มีอะไรจะมาสอนฝรั่งเศสได้”

คาเมเนอี ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของผู้นำการปฏิวัติต่อจาก อยาตุลเลาะห์ รูฮุลเลาะห์ โคไมนี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดอิหร่านตลอดชีวิต ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เขาเป็นสิ่งต้องห้ามในอิหร่าน โดยในปี 2532 โคไมนีถูกรู้จักหลังการออกกฤษฎีกาทางศาสนาหรือฟัตวา ซึ่งเป็นคำสั่งให้มุสลิมสามารถสังหาร ซัลมาน รัชดี นักเขียนชาวอังกฤษ เนื่องจากรัชดีถูกมองว่าเขาเขียนนวนิยายเรื่อง The Satanic Verses หมิ่นศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวหลายคนกล่าวโทษอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว หลังรัชดีถูกแทงที่งานในนิวยอร์ก แต่อิหร่านปฏิเสธว่าเหตุดังกล่าวไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับตัวเอง

ระบอบการปกครองของอิหร่านสั่นคลอนอันเป็นผลมาจากการประท้วงนาน 3 เดือน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ของ มาห์ซา อามินี หญิงชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด ซึ่งถูกจับกุมตัวในข้อหาละเมิดระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวดของประเทศสำหรับผู้หญิง ทั้งนี้ ทางการอิหร่านได้ตอบโต้การประท้วงด้วยการปราบปรามอย่างหนัก ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่านในกรุงออสโลกล่าวว่า ทางการอิหร่านได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 476 คนที่เข้าร่วมการประท้วง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อิหร่านเรียกการประท้วงว่าเป็นการจลาจล

ชาร์ลี เอ็บโด ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนในฉบับพิเศษนี้ เพื่อฉลองวันครบรอบเหตุโจมตีสำนักงานของตัวเองในกรุงปารีส ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นกว่า 12 คน รวมทั้งนักเขียนการ์ตูนชื่อดังบางคนด้วย “8 ปีต่อมา ความไม่อดกลั้นทางศาสนาไม่ได้พูดคำพูดสุดท้ายของมัน มันยังคงทำงานเพื่อต่อต้านการประท้วงระหว่างประเทศ และเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุด” ผู้อำนวยการของสิ่งพิมพ์กล่าว


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/jan/04/iran-warns-france-over-insulting-cartoons-depicting-supreme-leader-ali-khamenei?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1KjVluv-y2yOYUCUFjJohahfHJ6OJYsEfl5X58NnoPavrXQgIDpKL2Sz8