วันที่ 5 ต.ค.2566 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง (Emergency Alert) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียทั้งชาวจีน ชาวเมียนมาร์และชาวไทย เรื่องนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและสั่งการให้มีมาตรการเร่งด่วน กระทรวงจึงดำเนินการ Emergency Alert ซึ่งเมื่อเช้า AIS ได้ทดสอบระบบ LBS (Location-Based Service) เห็นว่าได้ผลดี ส่วน True-Dtac ก็ได้ทดสอบระบบเช่นเดียวกัน คาดว่าระบบนี้จะใช้เวลาในการพัฒนาอย่างเร็วที่สุด 6 เดือน นานที่สุด 1 ปี ยืนยันว่า ไม่ช้าเกินไปเพราะต้องติดตั้งระบบหลายอย่าง
ระยะต่อไป มีแผนจะทำระบบเตือนภัยฉุกเฉินทุกรูปแบบ (Cell Broadcast) ซึ่งต้องใช้เวลา ระบบนี้จะเตือนภัยได้ครอบคลุมและสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้ประสานงานกับ กสทช. และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกค่ายแล้ว เหลือเพียงศูนย์ Command Center ยืนยันว่า Cell Broadcast ไม่ได้ติดอุปสรรคเรื่องงบประมาณ ซึ่งตนเองไม่อยากพูดถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ขอมองแต่อนาคต แต่ยืนยันว่า จะเร่งทำให้เร็ว
ส่วนกรณีคนร้ายอยู่ในพื้นที่และได้รับ SMS ด้วย ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องตัดสัญญาณ ในจุดที่มีคนร้ายอยู่ ซึ่งเรื่องนี้เราทำได้อยู่แล้ว
ส่วนการปราบปรามเว็บไซต์ขายปืนเถื่อน ประเสริฐ เผยว่า ได้สั่งปิดไปแล้ว ตอนนี้ให้กระทรวงฯ ดำเนินการปิดอยู่ เดิมทีต้องใช้อำนาจศาล แต่ขณะนี้สามารถสั่งปิดได้ทันทีเมื่อพบเห็น ขณะที่เว็บเถื่อนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายปืนก็มีการสั่งปิดทุกวัน
“เมื่อวานนี้สั่งปิดไปแล้ว 500 เว็บ จากเดิมที่ปิดเพียงไม่กี่เว็บ และแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ โดยตัวเลขเว็บขายปืนเถื่อนที่ปิดไป ขอรอข้อมูลก่อน ส่วนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ที่ขายปืนนั้นได้ขอความร่วมมือไปแล้ว และทุกรายให้ความร่วมมือ” ประเสริฐ ระบุ
ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.และรักษาการเลขาธิการ กสทช.ว่า จะเสนอเรื่องการพัฒนา Cell Broadcast ต่อประธาน กสทช.เพื่อให้บอร์ด กสทช.พิจารณาอนุมัติโครงการเร็วที่สุด ส่วน Command Center ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ เพื่อหาหน่วยงานแม่งาน