จากกรณีมีการนำเสนอข่าวการตามหาเด็กหญิง ซึ่งหายตัวไปจากบ้านก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ และภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า เด็กหญิงคนดังกล่าวถูกพรากไปจากความดูแลของผู้ปกครองนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรอิสระมีความห่วงใยและกังวลต่อการนำเสนอข่าวกรณีดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของเด็กหญิงและครอบครัวผู้ตกเป็นข่าว จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และบุคคลทั่วไป ปฏิบัติดังนี้
1. ขอให้สื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และบุคคลทั่วไป คำนึงถึงหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ตลอดจนพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติให้การกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ โดยควรระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กและครอบครัว ตลอดจนคำนึงถึงผลแห่งการนำเสนอข่าวที่จะส่งผลต่อชีวิตของเด็กในภายหน้า โดยเฉพาะมิติความอ่อนไหวทางเพศสภาพ
2. ขอให้สื่อมวลชน ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพสื่อ และปฏิบัติตาม “แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว” ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ระบุให้องค์กรสื่อมวลชนและ ผู้ปฏิบัติงานข่าว เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ควรดำเนินการเพื่อมิให้มีการเผยแพร่ข่าวที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กและครอบครัว หรือเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่า ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านเพิ่มเติม