ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เผยว่า คณะกรรมการว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียน วัฒนธรรมร้านอาหารแผงลอย (Hawker Culture) ของสิงคโปร์ ในบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage - ICH) แล้วอย่างเป็นทางการ
ยูเนสโก ให้เหตุผลว่า "ร้านอาหารแผงลอยริมทางของสิงคโปร์ เสมือนเป็นห้องอาหารประจำชุมชน เพราะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนที่มาจากต่างพื้นเพ และต่างความหลากหลาย และเปลี่ยนและเข้าถึงประสบการณ์ ผ่านการรับประทานอาหารในทุกช่วงเวลา ตั้งแต่มื้อเช้า กลางวัน และมื้อเย็น"
นายกสิงคโปร์ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อมติการขึ้นทะเบียนดังกล่าวของยูเนสโก พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนชาวสิงคโปร์ ร่วมกันเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ ด้วยการออกไปอุดหนุนร้านอาหารริมทางอย่างน้อย สัปดาห์ละครั้ง
เช่นเดียวกับ ฮาลิมาห์ ยาคอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า วัฒนธรรมร้านอาหารหาบเร่แผงลอย ได้หล่อหลอมอัตลักษณ์ของสังคมสิงคโปร์ในหลายด้าน และสร้างประโยชน์ให้กับความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรมสิงคโปร์
สำหรับรัฐบาลสิงคโปร์ เสนอวัฒนธรรมอาหารแผงลอยริมทางเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2561 โดยหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว สิงคโปร์ต้องส่งรายงานแก่ยูเนสโกทุกๆ 6 ปี เพื่อแสดงถึงความคืบหน้าในการปกป้อง และประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมอาหารริมทางของตนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้ง การขึ้นทะเบียนนี้ ส่งผลให้สิงคโปร์มีมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีมรดกโลกจับต้องไม่ได้เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ดี การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ อาจสร้างข้อถกเถียงต่อสังคมมาเลเซีย เนื่องจากวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ ที่มีความใกล้เคียงกันในหลายประเด็น ตั้งแต่เชิงประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวัฒนธรรมอาหารการกิน ซึ่งชาวมาเลเซียไม่น้อยมองว่า วัฒนธรรมอาหารริมทางของมาเลเซียมีอิทธิพล 'เหนือ' อาหารของสิงคโปร์
ที่มา : CNA , straitstimes