วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีสั่งไม่ฟ้อง 'คดีบอส อยู่วิทยา' กล่าวว่า ที่ประชุมได้เชิญ อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด (อสส.) และเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด มาชี้แจง
โดย อรรถพล ระบุว่า เคยมีความเห็นยุติการพิจารณาร้องขอความเป็นธรรมคดีนี้แล้ว แต่เนตรได้หยิบยกเรื่องร้องขอความเป็นธรรมมาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ อดีตอัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์) ได้สั่งยุติเรื่องไปแล้ว โดยขณะนั้นได้ดำเนินการฟ้องคดีไปตามคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งก็เห็นว่าจะหยิบมาพิจารณาอีกไม่ได้ หรือจะหยิบมาพิจารณาได้ ก็ต้องให้อัยการสูงสุดชุดปัจจุบันต้องรับทราบด้วย เพราะหากสั่งไปแล้วโดยที่ไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ถือว่าเป็นการสั่งฟ้องคดีโดยไม่ชอบ
อรรถพล แจ้งว่าขอให้รอติดตามการพิจารณาของ ก.อ. ที่จะมีการประชุมในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ทราบว่าเป็นการพิจารณาเรื่องดุลพินิจ ซึ่ง ก.อ.จะชี้เรื่องวินัย และพิจารณาเรื่องความผิดหรือไม่ผิดของข้าราชการอัยการ
ดังนั้น จึงอยากให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ว่าคำสั่งชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอัยการสูงสุดสั่งตั้งเอง อาจทำให้เกิดความยุ่งยาก และเกิดความขัดแย้งกับ ก.อ. หรือไม่
วิชา กล่าวด้วยว่า อรรถพลบอกว่าได้แจ้งเรื่องนี้ให้วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (คนปัจจุบัน) รับทราบแล้ว แต่วงศ์สกุลนิ่งเฉยไม่ตอบว่าจะเอาอย่างไร ในที่สุดจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจดังกล่าว อีกทั้งจะเชิญวงศ์สกุล อัยการสูงสุด มาชี้แจงกับคณะกรรมการภายในสัปดาห์หน้า
"ความเห็นของอรรรพล ตรงกับความเห็นของคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด บอกว่าเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจอย่างเนตรที่ได้รับมอบจากอัยการสูงสุดให้ปฏิบัติหน้าที่ และเนตรก็ยังไม่ได้เป็นรองอัยการสูงสุดโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กล่าวคือสั่งการไปในฐานะอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ทำหน้าที่รักษาราชการตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด คือสามต่อเลย ฉะนั้นเรื่องนี้มีประเด็นปัญหาที่น่าคิดอีกเยอะ และเป็นข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การพิจารณาของเราด้วย" วิชา กล่าว
พร้อมระบุว่า เนตรชี้แจงว่า ตนเองไม่ได้ดูรายละเอียดสำนวนคดีนี้ตั้งแต่แรก และเป็นการสั่งตามที่ทนายความร้องขอความเป็นธรรม และสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดเป็นคนตั้งเรื่องส่งมาให้พิจารณา ซึ่งเนตรได้มาดูสำนวนจริงๆ ก็ภายหลังที่ตำรวจได้ดำเนินการสอบปากคำประกอบสำนวนมาให้แล้ว เนตรจึงยืนยันว่าสั่งคดีโดยถูกต้อง และไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของอรรถพล
ส่วนกรณีการยื่นหนังสือลาออกของนายเนตรเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา วิชา กล่าวว่า เนตรยืนยันว่าลาออกโดยตัวเอง ต้องการทำให้องค์กรหมดความยุ่งยาก แต่ว่าการลาออกจะมีผล ก็ต่อเมื่ออัยการสูงสุดสั่งอนุญาตและอนุมัติให้ลาออก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สั่งอนุมัติลาออก ดังนั้นท่านยังเป็นรองอัยการสูงสุดอยู่
ขณะเดียวกัน วิชา เปิดเผยว่า การตรวจสอบคดีมีความคืบหน้า ทั้งในเรื่องความเร็วรถ โคเคน อีกทั้งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร.อยู่ระหว่างดำเนินการใช้อำนาจมาตรา 147 ประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญา ซึ่งจะชอบหรือไม่ชอบเป็นเรื่องของ ผบ.ตร.พิจารณาโดยละเอียดตามประมวลกฎหมายอาญา และในวันที่ 17 ส.ค. จะเชิญตำรวจชุด พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบคดีนี้มาชี้แจง รวมถึง พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ถ้อยคำในวันที่ 17 ส.ค. นี้
โดย พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ถือว่าเป็นพยานสำคัญที่จะต้องคุ้มครอง ดูแลความปลอดภัย ซึ่งยอมรับว่ากังวล เพราะเป็นคนสำคัญที่จะนำคดีไปสู่ศาลหรือไม่ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี พอใจผลการทำงานระดับหนึ่ง แต่ให้ถูกใจประชาชน คือให้คดีไปถึงศาลให้ได้ เพื่อประจักษ์ว่าความยุติธรรมยังคงอยู่
วิชา ยังกล่าวด้วยว่าเราจะต้อง ยอมรับว่าตำรวจและอัยการไม่เหมือนศาลเพราะศาลมีกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนคือประมวลกฏหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ถ้าหากทำอะไรผิดผู้พิพากษาสามารถจะเพิกถอนได้ตลอดเวลา ซึ่งตนก็เคยทำผิด สั่งผิดวันรุ่งขึ้นก็สั่งใหม่ เราไม่ถือว่าเป็นความผิดเลย เพราะเราถือว่าคนที่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะแก้ไขอะไรได้ จากผิดเป็นถูกได้ด้วยตัวเองถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลกแล้ว