พรรคเพื่อไทย นำโดย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย และทีมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ได้แก่ พลนชชา จักรเพชร เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ คณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการคิดเพื่อไทย ร่วมชมงาน Startup x Innovation Thailand expo งาน Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดยคณะของพรรคเพื่อไทยได้เยี่ยมชม ศึกษา และหาช่องทางต่อยอดโครงการศึกษาวิจัยต่างๆ ผ่านนโยบายของพรรคเพื่อไทย เช่น ขนมสุนัข Jaikla ขนมสุนัขจากโปรตีนแมลง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อย เป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เหมาะกับสุนัขที่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ และดีต่อสุขภาพ , Smart Terra การปลูกพืชในภาชนะ ระบบนิเวศอัจฉริยะ ควบคุมสภาพอากาศเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชัน เช่น แสงพระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้น ฝนตก ฟ้าผ่า , วิริเบด (wiribed) เตียงที่ทำจากไม้ฉีดเอชเอ็มอาร์ ที่มีความทนทานต่อความชื้น รับน้ำหนักได้ดี นำศิลปะโอริกามิ ปรับรูปแบบที่นอนเป็นรูปแบบต่างๆ จนเป็นเตียงผู้ป่วยที่ใช้ในโรงพยาบาล สามารถเปลี่ยนวัสดุพื้นรองเตียงได้ ,เอ็น วี เค ฟาร์ม โคดำลำตะคอง (nvk premium) โคที่เกษตรกรชาวอ.สีคิ้ว จ.นครรชสีมา ผสมพันธุ์ขึ้นมาเอง รสสัมผัส ‘นุ่ม ชุ่มมัน’ แม่พันธุ์พื้นฐานมาจากพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อ A4 A5 เป็นต้น
ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมผลงานต่างๆ พบว่า การนำเอาผลงานการวิจัย โครงการต้นแบบ หรือโครงการที่สำเร็จแล้ว ไปต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงในระดับท้องถิ่น ยังขาดการเชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับสตาร์ทอัพ เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ที่ผ่านการวิจัยและได้รับทุนวิจัย จะอยู่ในการดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ดังนั้นหากมีการผลักดันจากส่วนกลางอย่างกระทรวงมหาดไทย สั่งตรงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ นำผลงานจากสตาร์ทอัพไปต่อยอดให้เกิดผลจริงให้มากขึ้น
นอกจากนี้ อว.ควรเพิ่มบทบาทการผลักดันและอำนวยความสะดวกในการนำงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในสังกัดของ อว. ออกมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากพบว่า ผู้ประกอบการต้องเข้าไปติดต่อกับมหาวิทยาลัย เพื่อนำงานวิจัยมาพัฒนาสินค้าเอง ดำเนินการเองตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนจบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐดีพอ นวัตกรรมจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมงานพบว่ามีสตาร์ทอัพหลายอย่างที่มีประโยชน์นำไปต่อยอด ส่งเสริม และช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นได้ เช่น เตียงผู้ป่วยวิริเบด ซึ่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรายนี้ยินดีที่จะมอบต้นแบบการประกอบเตียง ให้กับผู้ที่สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งประสบปัญหาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม่เพียงพอ คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ หากนำต้นแบบโครงเตียงไปพัฒนา และหาผู้ประกอบการผลิตที่นอนในท้องถิ่น ช่วยประหยัดงบประมาณการซื้อเตียงขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีงบประมาณซื้อเตียงผู้ป่วยที่จำกัด ขณะที่เตียงผู้ป่วยมีราคาแพงได้
นอกจากนี้ โคดำลำตะคอง ซึ่งยังมีข้อจำกัดเรื่องผู้เลี้ยงที่ต้องมีความชำนาญและพื้นที่เลี้ยงที่ไม่เพียงพอ หากนำมาพัฒนาร่วมกับโครงการโคล้านตัว นโยบายของพรรคเพื่อไทย และประสานงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน จะช่วยสร้างผลผลิตโคเนื้อได้มากขึ้น