ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมการประชุมเปิดตัวโครงการเสริมสร้างศักยภาพและการใช้ข้อมูลด้านน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำ (Kick-Off Meeting on Water Data Utilization and Capacity Building in the Mekong Region) ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ นายฮัก ซูลี ประธานเค วอเตอร์ ผู้แทนจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา รวมทั้งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อาทิ U.S. Army Corps of Engineering (USACE) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประธานร่วมกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ นครปูซาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ทันสมัยในการพยากรณ์สภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งในระยะยาว เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญ จึงเร่งขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรม การบูรณาการข้อมูลการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงด้วย
เลขาธิการ สทนช. ยังได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวในที่ประชุมถึงการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนของอนุภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent-MOI) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฝ่ายไทย สำหรับความร่วมมือในการดำเนินงานทางวิชาการด้านเทคนิคของโครงการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไทย – สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ณ ทำเนียบรัฐบาล
“การลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการยกระดับความสัมพันธ์ในมิติด้านน้ำในระดับนโยบาย และตอบสนองการดำเนินความร่วมมือของกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่แน่นแฟ้นมากยิ่ง ผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนบุคลากรในงานวิจัย การเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากเกาหลีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกแสดงเจตจํานงได้จัดทำภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 25 - 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอาเซียนภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของ ประธานาธิบดี มุน แจอิน และสอดคล้องกับเจตจำนงในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศอีกด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว