ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 เห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดวงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานและรองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ในปีงบประมาณ 2564 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยประเมินว่า หากยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงร้อยละ 50 (จำหน่ายได้ 10,058 ล้านมวน) จะส่งผลให้ ยสท. มีเงินสดคงเหลือติดลบและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของ ยสท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการบริโภคยาสูบของประชาชนในประเทศ ซึ่งมีผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง
สำรวจรายได้ของ ยสท. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2560 กำไรของ ยสท.ก็ลดลงอย่างมาก
รายงานประจำปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบ (ก่อนยกฐานะเป็น การยาสูบแห่งประเทศไทย) มีกำไรสุทธิ 9,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 482 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 5.44 โดยรายได้จากการจำหน่ายบุหรี่เพิ่มขึ้น 2,954 ล้านบาท ต้นทุนขายลดลง 74 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น 2,531 ล้านบาท เปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรสุทธิ ต่อยอดขายคิดเป็นร้อยละ 13.79 สูงกว่าปี 2562 ที่กำไรได้ร้อยละ 13.68
สำหรับความสามารถในการทำกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม และกำไรสุทธิต่อส่วนของทุนกลับลดลง เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ประเภทเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้นจากการขอยกเว้นการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน รวมกับสินทรัพย์ที่เป็นงานระหว่างดำเนินการ เพิ่มขึ้นจากแผนงานโครงการติดตั้งเครื่องจักรและสร้างบ้านพักอาศัยที่โรงงานผลิตยาสูบโรจนะอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สรุปในปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบ ยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี มีสินทรัพย์หมุนเวียน 16,881ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียน 1,848 ล้านบาท และมีเงินทุนหมุนเวียน 15,033 ล้านบาท อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี คิดเป็นร้อยละ 0.26 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ทำได้ร้อยละ 0.31
อย่างไรก็ตาม ในรายงานประจำปี 2560 คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2560
มาที่รายงานประจำปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบมีกำไรสุทธิ 634 ล้านบาท จากรายได้จำนวน 31,271 ล้านบาท
ขณะที่ การยาสูบแห่งประเทศไทย มีกำไรสุทธิเพียง 209 ล้านบาท จากรายได้จำนวน 20,294 ล้านบาท เป็นรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 20,141 ล้านบาท และรายได้อื่น จำนวน 153 ล้านบาท
มีต้นทุนขายบุหรี่ ต้นทุนขายยาเส้นมวนเอง ต้นทุนขายยาเส้นไม่ปรุงต้นทุนขายวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 19,880 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น จำนวน 205 ล้านบาท
ปี 2561 ยังมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี คิดเป็นร้อยละ 0.25 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ทำได้ร้อยละ 0.26
รายงานประจำปี 2561 ยังคาดว่าในปีงบประมาณ 2562 อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และการประกาศใช้อัตราภาษีร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ทุกตราในวันที่ 1 ต.ค. 2562 อัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงานและอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรลดลงจากปีก่อน เนื่องจากยอดขายที่ลดลงส่งผลถึงลูกหนี้การค้าและกำไรสุทธิที่ลดลงด้วย
ส่วนรายงานประจำปีงบประมาณ 2562 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีกำไรสุทธิ 513 ล้านบาท จากรายได้จำนวน 50,839 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 จำนวน 727 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.41
เป็นรายได้จากการดำเนินงาน จำนวน 50,292 ล้านบาท และรายได้อื่น จำนวน 547 ล้านบาท
มีต้นทุนขายบุหรี่ ต้นทุนขายยาเส้นมวนเอง ต้นทุนขายยาเส้นไม่ปรุง ต้นทุนขายวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 49,958 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น จำนวน 368 ล้านบาท
รายงานประจำปี 2562 ยังคาดว่าในปีงบประมาณ 2563 อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และการประกาศใช้อัตราภาษีร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ทุกตราในวันที่ 1 ต.ค. 2563 โดยอัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงานลดลง เนื่องจากรายได้จากการขายที่ลดลง และอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรลดลงจากปีก่อน เนื่องจากยอดขายและกำไรสุทธิที่ลดลง
กระทั่งปี 2563 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีรายได้รวม 50,289.64 ล้านบาท กำไรสุทธิ 853 ล้านบาท โดยมีปัจจัยที่มีผลกระทบได้แก่ ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่ประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2560 ทำให้บุหรี่ทุกกลุ่มทุกตราที่เคยมีความแตกต่างกันด้านราคา คุณภาพและภาพลักษณ์ มีราคาใกล้เคียงกันหมด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มราคาประหยัดจะมีราคาใกล้เคียงกับบุหรี่ราคาสูงก่อนการประกาศใช้อัตราภาษีใหม่
ส่วนปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจปี 2563 ที่ถดถอยต่อเนื่อง โดยอ้างรายงานข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของสภาพัฒน์ ส่งผลต่อการจ้างงานที่ลดลง กระทบรายได้ของผู้บริโภค ทำให้ลดเลิกการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถูกกฎหมายเพื่อประหยัดการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
สำหรับมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 เห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดวงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) โดยวิธีกู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft : OD) วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานและรองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าแสตมป์ยาสูบและภาระภาษีต่าง ๆ ค่าซื้อใบยาและวัตถุดิบในการผลิตบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 แล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดวงเงินกู้ระยะสั้นในรูป Credit Line โดยวิธีกู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft : OD) วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง จากกรณีที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ในปีงบประมาณ 2564 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยประเมินว่า หากยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงร้อยละ 50 (จำหน่ายได้ 10,058 ล้านมวน) จะส่งผลให้ ยสท. มีเงินสดคงเหลือติดลบและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของ ยสท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการบริโภคยาสูบของประชาชนในประเทศ ซึ่งผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง