สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยเพจ 'จับสัญญาณการเมือง' ได้ยกเหตุที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีกำหดการเชิญ เพนกวิน พริษฐ์ ชีวารักษ์ นักวิชาการอิสระ ขึ้นกล่าวปาฐกถานำ เรื่อง "เขียนสังคม เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน" ในวันที่ 15 ก.ค. 2566 นี้ โดยระบุถึงความไม่เหมาะสม มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวน 69 ข้อความ และมีผู้แชร์เรื่องดังกล่าวไปทั้งหมด 59 ครั้ง
จนเป็นเหตุทำให้เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตฯ หาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้โดยด่วน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 2 มิถุนายน ได้มีการสั่งการให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ เข้าชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของการจัดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการ ผศ.สุพรรณี เกลื่อนกลาด หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ และอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ รศ. ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม และ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง พร้อมทั้ง น.ส.นภัสกร เหล่าวาณิชวัฒนา เลขานุการภาควิชาประวัติศาสตร์
ในการนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้สอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน วิธีการและขั้นตอนการเลือกวิทยากร ตลอดจนคุณสมบัติความเป็นนักวิชาการของวิทยากรที่เชิญมาเป็นองค์ปาฐก และได้ย้ำเตือน สอบถามคณะทำงานว่าได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
ผศ.ดร.สุพรรณี เกลื่อนกลาด ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพร้อมทั้งทีมงานได้ชี้แจง ว่า ภาควิชาประวัติศาสตร์จะดำเนินการจัดโครงการประชุมวิชาการในวาระครบรอบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งทางภาควิชาฯ มีมติที่ประชุมภาควิชาประวัติศาสตร์ เลือก พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นวิทยากรในการปาฐกถานำ ในหัวข้อเรื่อง “เขียนสังคม เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน” ทั้งนี้ทางภาควิชาได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าวิทยากรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์ มุ่งเน้นประเด็นเชิงวิชาการ และมิได้มีจุดประสงค์อื่นใดที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งรายชื่อของวิทยากรได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่าย 14 สถาบัน ที่จะเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ อันประกอบไปด้วย
1. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
2. คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
5. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
7. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
8. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
9. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
10. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
11. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
12. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
13. สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
14. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณีดังกล่าว ผู้บริหารมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าการดำเนินการจัดโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีการขออนุญาตมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้สังคมกังวลใจ ต่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในเรื่องของความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรต้องขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้สั่งการให้คณะสังคมศาสตร์กลับไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วรายงานให้มหาวิทยาลัยทราบ และให้ภาควิชาประวัติศาสตร์ ทบทวนการจัดโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายทั้ง 14 แห่ง และให้ออกมาชี้แจงต่อสังคมโดยเร็ว
ล่าสุดวันนี้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจ้ง ระบุว่า ขอยุติการจัดงานประชุมวิชาการดังกล่าว เนื่องจากมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต