‘ศรี ราชนาถ สิงห์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดียเผยว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังเสียงเรียกร้องจากนายกรัฐมนตรี ‘นเรนทรา โมดี’ ให้อินเดียพึ่งพาตัวเองในด้านกลาโหม โดยอินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกและยังได้เร่งจัดซื้ออาวุธหลังเกิดเหตุปะทะบริเวณชายแดนกับกองกำลังของจีนเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 ทำให้รัฐบาลอินเดียอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ 33 ลำจากรัสเซีย และเสริมสมรรถนะเครื่องบินอีก 59 ลำในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมอินเดียระบุว่าวางแผนว่าจะดำเนินการห้ามนำเข้าอาวุธอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2563-2567 โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. นี้ เป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนการผลิตอาวุธในอินเดีย
โดยปกติอินเดียซื้ออาวุธจากรัสเซีย แต่ก็กำลังเพิ่มการจัดซื้อจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเช่นกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดีได้เรียกร้องหลายครั้งให้อินเดียลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ราคาแพง โดยระหว่างเดือน มิ.ย. 2558-ส.ค. 2563 หน่วยงานกลาโหมอินเดียได้ทำสัญญาซื้ออาวุธมูลค่าราว 3.5 ล้านล้านรูปี ที่ตอนนี้อยู่ในบัญชีระงับการจัดซื้อ ขณะที่รัฐบาลประเมินว่าตอนนี้คำสั่งซื้อมูลค่าราว 4 ล้านล้านรูปี จะไปอยู่ที่อุตสาหกรรมท้องถิ่นในช่วง 5-7 ปีนี้
ทั้งนี้ รายชื่ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในบัญชีห้ามนำเข้าครอบคลุมถึงระบบอาวุธเทคโนโลยีขั้นสูง ปืนใหญ่ ระบบโซนาร์ เครื่องบินขนส่ง และเฮลิคอปเตอร์โจมตีแอลซีเอช (Light Combat Helicopters)
อินเดียรั้งอันดับ 2 ประเทศนำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลก
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute : SIPRI) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2563 ระบุว่าในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 อินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 9.2% ของสัดส่วนการนำเข้าอาวุธทั่วโลก โดยนำเข้าจากรัสเซียมากที่สุด ตามด้วยอิสราเอลและฝรั่งเศส ขณะที่ประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดอันดับ 1 คือซาอุดีอาระเบีย ด้วยสัดส่วน 12% ส่วนอันดับ 3-5 ได้แก่ อียิปต์ ออสเตรเลีย และจีน ตามลำดับ
ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่อับดับ 22 ของประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการนำเข้าอาวุธ 1.2% ของการนำเข้าอาวุธทั่วโลก ถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนหน้า คือระหว่างปี 2553-2557 ที่ส่วนแบ่งของการนำเข้าอาวุธของไทยอยู่ที่ 0.8% ของการนำเข้าอาวุธทั่วโลก
ข้อมูลจาก SIPRI ยังระบุว่า ระหว่างปี 2558-2562 ประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่ครองตลาดโลก 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน โดยรายงานของ SIPRI ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถูกส่งไปยังตะวันออกกลางและครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวถูกส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกัน ความต้องการเครื่องบินทหารของสหรัฐฯ ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและไต้หวัน
อ้างอิง Reuters / VOA / Times of India / European Security & Defence