ไม่พบผลการค้นหา
เปิดจักรวาลความจนในอดีต กับตัวอย่างกรณีที่คนไทยต้องอยู่อย่างเจ็บๆ ป่วยๆ ขาดโอกาสจะลืมตาอ้าปาก และจ่ายแพงกว่าเพียงเพราะว่ายากจน

ประชุมสภาแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา "ครม.ประยุทธ์ 2" ใช้เวลายาวๆ กว่า 30 ชั่วโมง ประท้วงรัวๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน บางคนพูดน้ำท่วมทุ่ง บางคนอารมณ์มาเต็ม บางคนมีสาระ โดยประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสภาแน่นอนว่าคือเรื่อง "ปากท้อง" และ "ความยากจน"

คนจากรัฐบาลก่อน (ซึ่งก็เป็นคนในรัฐบาลนี้ด้วย) เคยบอกกับประชาชนไว้ว่า "คนจนจะหมดไป" ไม่แน่ใจว่าหมายถึงต่อไปคนจนจะได้ลืมตาอ้าปาก หรือหมายถึงคนจนพากันตายหมด แต่นี่สะท้อนให้เห็นว่าความจนนั้นเป็นปัญหาที่ต้องแก้ เพราะหากคุณยากจนคุณจะต้องเจอกับ "สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา" นานาประการ บทความนี้จะพาไปดู "จักรวาลความจน" ของคนยุคอดีต ว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงในบางประเด็น คนจนปัจจุบันก็ยังคงมีสภาพไม่ต่างจากบรรพบุรุษเท่าใดนัก ...ความจนเป็นเวรกรรม เป็นดีเอ็นเอ หรือเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้นกันแน่นะ?


จักรวาลความจน เรื่องที่ 1 : โรคภัยไข้เจ็บ

ตามธรรมดาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บจะจนจะรวยหนีไม่พ้นหรอก แต่มันต่างกันตรงที่ว่าเมื่อเจ็บแล้ว คนยากจนคนชายขอบอาจไม่มีศักยภาพพอที่จะเข้าถึงการรักษา ยกตัวอย่างเช่น การระบาดของอหิวาตกโรค ช่วงปี พ.ศ. 2478-2480 มีจุดเริ่มที่อำเภอวังกะ กาญจนบุรี ที่นี่ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง ทำอาชีพรับจ้างตัดไม้ไผ่ การคมนาคมติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรีหน้าแล้งต้องใช้เรือถ่อ ใช้เวลาราว 1 เดือน หน้าน้ำใช้เรือยนต์เป็นเวลา 7 วัน การติดต่อล่าช้าเพราะกันดาร ด้วยเหตุนี้ เมื่ออนามัยจังหวัดไปถึงจึงปรากฎว่ามีคนตายไปแล้ว 91 คน จากจำนวนผู้ป่วย 92 คน [1]

แม้โรคภัยไข้เจ็บนั้นพร้อมคร่าชีวิตคนไม่เลือกหน้า แต่ก็มีบางโรคที่ถูกบ่งอัตลักษณ์ว่าเป็น “โรคคนจน” โดยเฉพาะ โรคที่ว่าก็คือ “วัณโรค” หรือที่คนไทยในอดีตเราชอบเรียกว่า “ฝีในท้อง” ด้วยความเข้าใจผิดว่าการไอปนเลือด เป็นเลือดที่ออกมาจากท้องซะงั้น

ในยุคที่ระบบสาธารณสุขยังไม่ค่อยดี มีชนชั้นนำไทยทั้งเจ้านายและขุนนางสิ้นชีพจากวัณโรคเหมือนกัน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ววัณโรคเป็นโรคคนจนขนานแท้ เพราะติดต่อแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) คนที่อยู่กันอย่างแออัด อากาศเสีย สิ่งแวดล้อมไม่ดี จึงติดกันง่าย รวมถึงคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยมีกิน ก็เป็นวัณโรคได้ง่ายๆ เช่นกัน เพราะภูมิต้านทานลดลง ไม่แปลกนักที่รายงานด้านสาธารณสุข จะพบว่ามีเด็กๆ ในครอบครัวยากจน ขาดสารอาหาร หรืออยู่ในชุมชนแออัด เป็นวัณโรคกันไม่น้อย

ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้ลดลง โดยประเทศไทยติดอันดับในกลุ่ม 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค (TB) วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย (TB/HIV) และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) แต่งบประมาณในการดูแลโรคนี้กลับไม่ได้สูงตามไปด้วย จนคนในแวดวงสาธารณสุข รวมถึงนักวิชาการอดคิดไม่ได้ว่า หรือเพราะวัณโรคมันเป็น “โรคคนจน” เลยไม่ได้รับความใส่ใจเท่าไหร่


จักรวาลความจน เรื่องที่ 2 : โอกาสในอาชีพ

บ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่แรงงานหลักๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตามคำบอกเล่าของฝรั่ง เช่น ลาร์ลูแบร์ บอกว่าเป็น “ผู้หญิง” เพราะไพร่ชายหนุ่มต้องไปเข้าเดือนออกเดือน รับใช้ราชการ ความไม่มีอิสระในการประกอบอาชีพเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ไพร่เป็นหนี้เป็นสิน ขนาดต้องฝากตัวรับใช้นายกลายเป็น “ทาส” ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีการผ่อนปรน เป็น “เข้า 1 เดือน ออก 2 เดือน” หรือเข้าเวรแค่ 4 เดือนเท่านั้น หรือถ้าจะจ่ายเงินแทนการเข้าเวรเอาก็ย่อมได้ สนนราคาที่ปีละ 18 บาท

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีเงินจ่าย ก็ไม่ต้องมาลำบากลำบนเข้าเวร ส่วนคนไม่มีเงินก็ยิ่งไม่มีเงินเข้าไปใหญ่ เพราะมีโอกาสทำงานให้เงินงอกเงยน้อยกว่า โดยจากรายงานเรื่อง “ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย” ของ อ.ธนัย เกตวงกต ศึกษาพบข้อมูลว่า คนที่ถูกเกณฑ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 มักเป็นคนไม่มีเงิน ไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องมาเป็นทหาร โดยได้ยกหลักฐานจากพระราชดำรัสระหว่างรัชกาลที่ 5 ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ช่วงเดือนเมษายน ร.ศ.122 ว่า

"...คนที่ส่งมาเป็นทหารนั้น เฉพาะแต่คนที่ไม่มีเงินเสียส่วนประการหนึ่ง คนที่เปนโทษบางอย่างประการหนึ่ง ฤๅผู้ที่เลวทรามที่สุดในพื้นเมืองนั้น คือจะทำอะไรไม่ได้เปนต้นก็มี..."


จักรวาลความจน เรื่องที่ 3 : ค่าใช้จ่ายที่แพงเสมอ

ในยุคนี้ถ้ามนุษย์ไม่รวยอย่างเราอยากได้บ้านสักหลัง แน่นอนว่าเราต้องกู้ธนาคารมาซื้อบ้าน ผ่อนไปผ่อนมา ดอกเบี้ยบาน บ้านล้านห้า ผ่อนเผลอๆ ไปร่วม 3 ล้าน ขณะที่คนมีกะตังค์กำเงินก้อนไปซื้อสด นอกจากไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย ดีไม่ดีได้ส่วนลดอีกต่างหาก

นี่เป็นตัวอย่างเบสิคๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นคนจน “มีต้นทุนสูง” ซึ่งสภาพการณ์แบบนี้ บรรพบุรุษยากจนของเราก็เคยเจอมาก่อนเช่นกัน โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีการฟื้นฟูการจัดเก็บภาษีขนานใหญ่เพื่อหาเงินเข้าคลัง ระบบจัดเก็บภาษีที่ทรงพลานุภาพและใช้ในยุคนี้ก็คือ “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” หรือการให้เอกชน (ซึ่งส่วนมากก็คือคนจีน) มาประมูลกับรัฐ อยากจะเก็บภาษีอะไร เสนอผลประโยชน์ให้รัฐเท่าไหร่ ถ้ารัฐโอเคเซย์เยส เจ้าภาษีนั้นๆ ต้องทำหน้าที่ส่งผลประโยชน์ในอัตราที่สัญญากับรัฐเอาไว้

จีนเจ้าภาษีนายอากรสามารถยื่นฎีกา เสนอแนะให้รัฐเก็บภาษีสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีพของประชาชนคนธรรมดา เช่น กระทะ ไต้ ชัน น้ำมันยาง ปลาทู ปลาแห้ง ฯลฯ แถมด่านภาษีของเจ้าภาษีพวกนี้ยังตั้งกันกระจัดกระจาย ประชาชนจ่ายภาษีซ้ำซ้อนเดือดร้อนหนัก โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฎว่า 

“...ราษฎรไปมาทางวันหนึ่งต้องจอดด่านจอดโรงภาษีถึงเก้าแห่งสิบแห่ง ...ลางทีชาวด่านกับราษฎรเกิดวิวาทชกตีกันก็มี ฝ่ายเจ้าภาษีนั้นถ้าเรือไม่แวะโรงภาษีก็แต่งคนไปเอาเรือราษฎรมาตรวจดูสิ่งของในลำเรือต้องตามภาษี พาลว่าราษฎรหนีภาษีปรับไหมเอาสิ่งของไว้จนสิ้น...”

โชคดีที่ฟ้ามีตา รัชกาลที่ 4 เห็นความเดือดร้อนของประชาชน จึงออก “ประกาศให้ภาษีตั้งอยู่กับด่าน”  สาระก็คือยุบโรงภาษีที่กระจัดกระจายมาไว้ที่ด่านเดียวกัน ความเดือดร้อนของประชาชนจากการขี้ตู่เก็บภาษีซ้ำซ้อนจึงถูกบรรเทาลงไป


เล่าเท่าไหร่ก็ไม่หมด

บทความนี้อาจไม่ได้ครอบคลุม “จักรวาลความจน” ได้ทุกแง่มุม เพราะที่จริงแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่คนจนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงทรัพยากร, โอกาสทางการศึกษา หรือแม้แต่ความเท่าเทียมในระบบยุติธรรมมที่พึงได้รับ 

การจะให้ความจนหายไปเหมือน “ธานอสดีดนิ้ว” มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ควรคำนึงให้มากก็คือ ทำอย่างไรให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมันไม่กว้างไปมากกว่านี้ และที่สำคัญก็คือ จะแก้ปัญหา “ความจน” ควรเริ่มจากความจริงใจ การพูดซ้ำๆ ว่า “เศรษฐกิจดี” แต่คนไม่มีจะกิน หรือบอกว่าเศรษฐกิจฝืดเพราะคนจนไม่เสียภาษี นอกจากไม่ช่วยอะไรยังพลอยทำให้คนฟังสิ้นหวังไปด้วย 

**************************

อ้างอิง

[1] ประเมิน จันทวิมล, ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย ในอนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบรอบ 20 ปี, พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2505, หน้าที่ 591.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog