ไม่พบผลการค้นหา
บทวิเคราะห์ 2 แบงก์ 'ทหารไทย-กสิกรไทย' คาด ประชุม กนง. นัดแรกของปี 2562 มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับร้อยละ 1.75 แจงปัจจัยเงินเฟ้อต่ำกดดัน เศรษฐกิจโลก สงครามการค้า รุ่มเร้าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปี 2562 ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.) เป็นอีกครั้งที่ตลาดเงินตลาดทุนจับตามอง 

ขณะที่ บทวิเคราะห์จากธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ระบุว่า ในปี 2562 นี้ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ไปอย่างน้อยอีกครึ่งปี แม้อุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดี เพื่อรอประเมินผลทางเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังทรงตัวในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง 

หากพิจารณาช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตของ ธปท. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมักจะถูกปรับขึ้นติดต่อกันในแต่ละการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงอาจเกิดข้อสงสัยว่าหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธปท. จะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 ก.พ. นี้หรือไม่ เมื่ออุปสงค์ในประเทศปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.4 สูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ 

ในประเด็นดังกล่าว TMB Analytics มองว่าถึงแม้อุปสงค์ในประเทศจะเติบโตดีในปีนี้ แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่คาดว่าในครึ่งปีแรกจะทรงตัวที่ระดับเพียง 62.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล เทียบกับ เฉลี่ยที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาเรลจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีอาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 1 ของ ธปท.

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. คือการแข็งค่าของค่าเงินบาท ที่แข็งค่าจากระดับสูงสุดที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่แล้ว ล่าสุดเหลือเพียง 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าปัจจัยที่กำหนดแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะยาวจะเป็นดุลการค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายเป็นปัจจัยที่สามารถกระทบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งโดยมีบัญชีเดินสะพัดสุทธิเกินดุลรวมกว่า 3.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา อีกทั้ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10 เดือนของมูลค่าการนำเข้า ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นอาจดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าตลาดการเงินไทยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

แต่ไม่ว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ความผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากประเด็นสงครามทางการค้าที่จะกระทบดุลการค้าและความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนดังกล่าวและทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม

ปัจจัยต่างประเทศรุ่มเร้า เบรก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่ระดับร้อยละ 1.75 ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา 

พร้อมกับรวบรวมประเด็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่อาจจะมีนัยต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ดังนี้

ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง คงส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินติดตามประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงสอดคล้องกับการเติบโตตามศักยภาพ แต่คงต้องยอมรับว่าโมเมนตัมการการขยายตัวที่เริ่มแผ่วลงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ กนง. คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดอีกระยะ เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่คงจะมีความชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป 

ขณะที่ต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่แน่นอน ที่เข้ามากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากปัจจัยภายนอก อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากทั้งการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศส่งออกหลักของโลกรวมทั้ง 

ปัจจัยชั่วคราวจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยในประเทศยังพบว่า การใช้จ่ายครัวเรือนยังโตได้ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ประเด็นต่อมาคือ สภาวะตลาดการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่น่าจะมีการปรับขึ้นในระยะอันใกล้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและยาวปรับลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลจากที่เฟดส่งสัญญาณถึงความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น  

ดังนั้น สภาวะการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงเป็นไปอย่างผ่อนปรนและยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่

มองไปข้างหน้า กนง. จะให้น้ำหนักการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ (data dependent) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับจำกัด น่าจะช่วยให้ กนง. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ 

รวมถึงต้องยอมรับว่ามุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังคงเผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากความไม่แน่นอนด้านการค้า และค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง 

อีกทั้งเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะไม่ได้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรมก่อนวันที่ 2 มี.ค. 2562 เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในการคลายความขัดแย้ง ทำให้สินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 25 หรือในกรณีที่การเจรจาการค้ามีความก้าวหน้าสหรัฐฯ พอประมาณ สหรัฐฯ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ระดับร้อยละ 10 จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า 

ประเด็นเหล่านี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแรงกดดันต่อการส่งออกไทยน่าจะคงมีอยู่ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยพื้นฐานเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก ทำให้ กนง. ติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด 

พร้อมกับคาดว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนจากภา���นอกประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2562 ซึ่งน่าจะเห็นทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยชัดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาการเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพที่ประมาณร้อยละ 4 ตามที่ได้ประเมินไว้ กนง. อาจจะพิจารณาโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แต่หากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ตลอดทั้งปี 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :