ไม่พบผลการค้นหา
ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.แทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องด้วยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2546 ให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของ 'สิระ เจนจาคะ' ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

เนื่องจาก 'สิระ' เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 เป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

สมาชิกภาพ ส.ส.ของ 'สิระ' จึงสิ้นสุดตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือ วันที่ 24 มี.ค. 2562 และต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ซึ่งก็คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คือ วันที่ 22 ธ.ค. 2564

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ 

โดยปฏิทินการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตเลือกตั้งที่ 9 เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร เฉพาะแขวงลาดยาว เสนานิคม จันทรเกษม (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) จะเกิดขึ้นภายใน 45 วัน โดยคาดการณ์ว่าวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. 2565 จะเป็นวันหย่อนบัตรชี้ชะตา ส.ส.กทม.ที่ว่างลง 

และมีวางปฏิทินวันเปิดรับสมัครลงเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 6-10 ม.ค. 2565 

ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่ยังเป็นรูปแบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และถือว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. ครั้งแรกนับแต่การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562

สิระ สภา -E01F-41CD-9C05-01492FD78BAA.jpeg

ศึกเลือกตั้งซ่อม กทม. ครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลกว่า 10 พรรคการเมือง กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 

เรียกได้ว่าผ่านมาครึ่งเทอมแล้วหลังการเลือกตั้ง ต่อจากนี้จะเป็นช่วงนับถอยหลังเตรียมใกล้เลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ในกรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี

โฟกัสศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร เฉพาะแขวงลาดยาว เสนานิคม จันทรเกษม (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 ม.ค. 2565 

พรรคการเมืองที่เป็นตัวเต็งจะได้ ส.ส.กทม. ครั้งนี้ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย มีมติส่ง 'สุรชาติ เทียนทอง' อดีต ส.ส.กทม. เมื่อปี 2554 ลงล้างตาอีกครั้ง

ตัวเต็งอีกฝั่ง คือ พรรคพลังประชารัฐ เจ้าของเก้าอี้ ส.ส.กทม. ตัวเดิม ส่ง 'สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ' ภรรยาของ สิระ เจนจาคะ ลงรักษาเก้าอี้ ส.ส. เพื่อสานต่องานของ สิระ

พรรคก้าวไกล เดิมการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ชื่อ พรรคอนาคตใหม่ มาคราวนี้ ทิ้งไพ่ขอวัดกระแส วัดใจคนกรุง ส่งดารานักแสดงชื่อดัง 'เพชร' กรุณพล เทียนสุวรรณ ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยหวังลุ้นเป็นม้ามืดคว้าเก้าอี้ ส.ส.

พรรคกล้า พรรคการเมืองที่นำโดย 'กรณ์ จาติกวณิช' อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง 'อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี' เลขาธิการพรรค มีฐานเสียงในกรุงเทพฯ เพราะเป็น อดีต ส.ส.กทม. เมื่อปี 2551 และ ปี 2554 ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยคุ้นเคยพื้นที่เขตหลักสี่ เมื่อครั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก

พรรคไทยภักดี ของ 'นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม' หัวหน้าพรรค ส่ง 'พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์' นักธุรกิจ อดีตซีอีโอบริษัทหลายแห่งลงชิมลางวัดกระแสคนกรุง โดยชูสโลแกน "ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง และรักประเทศไทย รักชาติ ศาสนา สถาบัน และพระมหากษัตริย์"

เพื่อไทย ชลน่าน สุรชาติ สรวงศ์  C85812B7D2.jpegสรัลรัศมิ์ ประวิตร สิระ -7FAB-4464-B885-0E493516F7F6.jpegเพชร กรุณพล ก้าวไกล -8C36-42E2-BE6A-FA8E7A60F324.jpegพรรคกล้า อรรถวิชช์ -B8D9-4D7C-B018-9F8840CB2328.jpegวรงค์ ไทยภักดี พันธุ์เทพ 4-83E6A98D45E1.jpeg

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. แม้จะได้เพียง ส.ส. 1 ที่นั่ง แต่พรรคพลังประชารัฐก็หมายมั่นจะรักษา 1 ส.ส. ภายใต้ที่เกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ต้องเผชิญการต่อสู้อย่างหนัก จากการนับองค์ประชุมสภาฯ อยู่บ่อยครั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. แม้จะได้เพียง 1 ที่นั่ง แต่พรรคฝ่ายค้านก็ต้องการเช่นกัน เพราะศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความหมายทางการเมือง

ถ้าพรรครัฐบาลพ่ายแพ้ ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565

และยังส่งผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบวาระ หรือจะต้องยุบสภาฯ ก็ตาม

ประยุทธ์ บัตรเลือกตั้ง การเลือกตั้ง

ย้อนไปดูผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่ และเขตจตุจักร เฉพาะแขวงลาดยาว เสนานิคม จันทรเกษม (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)

อันดับ 1 สิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 34,907 คะแนน

อันดับ 2 สุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย 32,115 คะแนน

อันดับ 3 กฤษณุชา สรรเสริญ พรรคอนาคตใหม่ 25,735 คะแนน

อันดับ 4 พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ พรรคประชาธิปัตย์ 16,255 คะแนน

เขตเลือกตั้งที่ 9 เป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้กันหนัก เพราะพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ไปเพียง 2,792 คะแนน และมีโอกาสที่จะพลิกกับมาชนะได้ทุกเมื่อ 

ส่วนผลเลือกตั้ง ปี 2554 ซึ่งเป็นระบบเดิม ที่มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน บัญชีรายชื่อ 125 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 11 เขตหลักสี่และเขตดอนเมือง (เฉพาะแขวงสนามบิน)

อันดับ 1 สุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้ง 28,376 คะแนน

อันดับ 2 สกลธี ภัททิยกุล พรรคประชาธิปัตย์ 25,704 คะแนน

อันดับ 3 ศุภมาส อิศรภักดี พรรคภูมิใจไทย 14,474 คะแนน

เมื่อวัดผลคะแนนในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด จะเห็นได้ชัดว่า ผู้ได้รับการเลือกตั้ง และผู้ได้อันดับที่ 2 มีคะแนนที่เฉือนกันแพ้-ชนะเพียงหลักพันคะแนน

สมรภูมิศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยว่า จะตื่นตัวเพียงใด ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเผชิญมรสุมการแก้ปัญหาโควิด-19 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง เพียงแค่อยู่ไปเรื่อย เพื่อรักษาอำนาจตัวเองเท่านั้น

และที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การเลือกตั้งซ่อม กทม.สนามนี้ จะต้องช่วงชิงกันอย่างดุเดือด ไม่แพ้กับการเลือกตั้งใหญ่ที่ชี้วัดการผู้บริหารประเทศ และจะเป็นการชี้วัดกระแสทิศทางการเมืองไทยในอนาคตด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง