ไม่พบผลการค้นหา
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมืองของตนเองครั้งใหญ่ หลังจากคณะรัฐมนตรีไปจนถึงคณะทำงานกว่า 40 คน ตัดสินใจก่อกบฏทางการเมืองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยข้ออ้างว่าพวกตนไม่มั่นใจในภาวะผู้นำของจอห์นสัน

ปรีติ พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาราจักร เป็นอีกหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งของตนเอง และเรียกร้องให้จอห์นสันลาออกจากตำแหน่งของตน ทั้งนี้ พาเทลเคยเป็นอดีตพันธมิตรใกล้ชิดทางการเมืองของจอห์นสัน อย่างไรก็ดี พาเทลไม่ได้เรียกร้องให้จอห์นสันลาออกอย่างรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วยการระบุว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรีจะเป็นการไม่ “รับผิดชอบ” ต่อหน้าที่

ยิ่งไปกว่านั้น ไมเคิล โกฟ เสนาบดีใหญ่ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ถูกจอห์นสันไล่ออกจากคณะรัฐมนตรี หลังจากโกฟเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรลาออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ จอห์นสันอ้างว่า การที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาอาวุโสที่ออกมาเรียกร้องให้ตน “เดินหนี” ออกไปจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลังจากสหราชอาณาจักรกำลังเจอแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการรับมือกับสงครามในยูเครน

หลังจากการตั้งคำถามจากคณะกรรมการประสานงานสภาสามัญชน มายังนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรถึงการเลือกตั้ง จอห์นสันระบุว่าตนจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยอาจจะจัดขึ้นให้เร็วที่สุดภายในปี 2567 ทั้งนี้ ข้อมูลใกล้ชิดจากสำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า จอห์นสันจะไม่มีการประกาศลาออกใดๆ และยืนยันที่จะสู้ต่อไป

คณะรัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อสร้างแรงกดดันให้จอห์นสันลาออก หมายรวมถึง คริส ฮีตัน-แฮร์ริส ประธานวิปรัฐบาล แกรนต์ แชปป์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึง ไซมอน ฮาร์ต เสนาบดีใหญ่เวลส์ อย่างไรก็ดี โกฟที่ไม่ได้ลาออกกลับถูกนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรโทรศัพท์มาแจ้งว่า ตนถูกไล่ออกจากคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ตนและ ควาซี ควาร์เทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ออกมาเรียกร้องให้จอห์นสันลาออก

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับจอห์นสันให้สัมภาษณ์กับทาง BBC ว่า “คุณไม่สามารถมีงู ที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับคุณในการถกอภิปรายครั้งใหญ่ ซึ่งออกมาบอกกับนักข่าวอย่างมีความสุขว่าผู้นำจะต้องลาออกไปซะ” อย่างไรก็ดี ฮาร์ตระบุว่า การออกมาเรียกร้องให้จอห์นสันลาออกนั้น เป็นการช่วยให้จอห์นสัน “เบนหัวเรือ” เพื่อหาทางลงให้ได้

กระแสกดดันจอห์นสันให้ลาออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่สองรัฐมนตรีใหญ่จากกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขลาออกจากตำแหน่งของตน เพื่อกดดันจอห์นสันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 ก.ค.) หลังจากที่จอห์นสันเอาตัวรอดจากการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนก่อนมาได้ แต่กระแสการกดดันให้นายกรัฐมนตรีสหราอาณาจักรลาออกกลับยังคงไม่หายไปไหน

ปัจจุบันนี้ มีคณะรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแล้วกว่า 5 ราย ที่ลาออกจากตำแหน่งของตน รวมถึงคณะทำงานคนอื่นๆ อีกหลายสิบคนที่ลาออกเพื่อกดดันให้จอห์นสันลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ จอห์นสันเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมืองของตน หลังจากกระแสต่อต้านจากการที่ตนละเมิดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนการจัดการสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ล้มเหลว


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-politics-62065534

https://www.theguardian.com/politics/2022/jul/06/johnson-clings-on-amid-cabinet-standoff-and-dozens-of-resignations