เด็กชายครอบครัวแตกแยก อาหารมื้อหลักคือข้าวคลุกน้ำปลา ผจญอาชีพหลากหลายตั้งแต่เดินขายมะม่วงตามบาร์เบียร์ ยามรักษาความปลอดภัย พนักงานร้านสะดวกซื้อ เสมียน ลูกจ้างเก็บขยะ ด้วยความใฝ่รู้และต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า เขาฝ่าฝันอุปสรรคนับน้อยนับพัน ก้าวขึ้นไปเป็นนักกฎหมายในตำแหน่ง ‘นิติกร’ ที่รอวันเดินไปสู่ ‘อัยการ’ ได้อย่างน่าชื่นชม
‘อาณัติ มานพ’ นิติกรปฏิบัติการ ประจำศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ชายที่ไม่เคยฝันไกลกว่า “การทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เท่าที่มีโอกาส” พร้อมแล้วที่จะเปิดเผยฉากชีวิตและเส้นทางความสำเร็จที่อยู่ในกำมือ
อาณัติ เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2533 ที่จังหวัดอุดรธานี มีชีวิตลำบากในวัยเด็ก หลังพ่อแม่เลิกรากัน เด็กน้อยแบเบาะถูกแม่ส่งไปฝากเลี้ยงไว้กับยาย ซึ่งไม่ใช่ญาติที่ จ.ตราด ขณะที่แม่ไปทำงานก่อสร้างในพื้นที่ จ.พัทยา เพื่อหาเงินส่งให้ลูกเรียน
“ตอนนั้นลำบากมาก บ้านไม่มีไฟฟ้า ใช้น้ำจากบ่อ ต้องสาวเชือกขึ้นมาใช้ กินข้าวกับน้ำปลาเป็นเรื่องปกติ มีเพียงวันพระเท่านั้นที่ได้กินของดี เพราะหอบใส่ปิ่นโตเอามาจากวัด”
อายุได้ 9 ขวบ ‘อาณัติ’ ย้ายไปอยู่กับแม่ที่เมืองพัทยา และเริ่มอาชีพแรกในชีวิตด้วยการเดินขายมะม่วง ริมผับบาร์ บนถนนวอล์คกิ้ง สตรีท
“ตื่นตี 5 ไปซื้อของที่ตลาดพัทยาและนำมาเตรียมไว้ หลังเลิกเรียนแล้วนำมาแพ็คใส่ถุง เดินขายตามบาร์เบียร์ตั้งแต่เย็นถึง 5 ทุ่ม ค่อยกลับบ้านนอน”
ช่วงมัธยมต้นเขาทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ แลกค่าแรงชั่วโมงละ 25 บาท หาเลี้ยงชีพและค่าเทอมจนกระทั่งเรียนจบ แม้ตลอดชีวิตในวัยเด็กจะไม่มีช่วงเวลาเล่นสนุกเหมือนเด็กทั่วไป แต่นับเป็นเรื่องดีที่ยังได้อยู่ในระบบการศึกษามาตลอด
“ผมทำงานเรื่อยมาจนจบ ม.6 ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ต่อให้สอบติดก็ไม่มีเงินเสียค่าเทอม ไม่อยากกู้ ไม่อยากเป็นหนี้ เลยตัดสินใจสมัครเข้า ม.รามคำแหง เพราะหน่วยกิตถูก ไม่มีความฝันว่าจะอยากเป็นอะไร คิดเพียงแค่ว่า ขอมีวุฒิ มีงานที่ดี มีเงินเดือนก็พอใจแล้ว”
การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นเรื่องปกติของอาณัติ ผ่านมาหลากหลายอาชีพชนิดคนทั่วไปฟังแล้วต้องทึ่ง ไล่ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟในโรงแรม คนขายซีดี และแม้กระทั่ง รปภ.
“กลางวันทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ พนักงานขายซีดี เสมียนทนาย หลายครั้งก็ไปช่วยยื่นภาษีและประกันสังคมให้กับพนักงาน ช่วงกลางคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงหกโมงเช้าเป็น ผมจะกลายเป็น รปภ.ประจำหมู่บ้าน เวลานั้นแหละครับที่ผมได้อ่านหนังสือ”
ชีวิตของเขาคือการค้นหาโอกาสที่ดีกว่าอยู่เสมอ หากได้เงินเดือนมากกว่า มีเวลาอ่านหนังสือและพักผ่อนมากขึ้นเขาไม่รีรอที่จะเดินเข้าไปสมัคร จากรปภ. ก้าวไปเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาล พนักงานจัดเก็บขยะมูลฝอย ลูกจ้างชั่วคราวของเทศบาล กองสาธารณสุข ดูแลขยะ สัตว์จรจัด และเรื่องร้องเรียนต่างๆ
“เราทำงานแต่ละที่ 7-8 เดือน มองหาโอกาสอยู่เรื่อยๆ ถ้าขยับแล้วมันมีเวลามากขึ้น เราก็เลือกครับ”
ด้วยความที่กิจกรรมและตารางงานหนาแน่น ทำให้หลายครั้งเขาเดินทางไปเข้าสอบไม่ทันเวลา แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ภายในเวลา 4 ปี
“ช่วงเรียนเหนื่อยมากครับ ต้องอดนอนไปสอบ ล้ามาก จากพัทยามากรุงเทพฯ บางวันมาไม่ทันสอบ ก็เสียโอกาสฟรี จริงๆ ผมสอบตกเยอะเหมือนกัน แต่ซ่อมเอาเรื่อยๆ จนจบ”
(ภาพซ้ายเมื่อครั้งมีอาชีพเป็นรปภ. - ภาพขวาเป็นนิติกร)
หนังสือคือการลงทุนและเสริมสร้างความสามารถที่ง่ายที่สุดสำหรับอาณัติ
“การอ่านเป็นการลงทุนอย่างเดียวที่ไม่ว่าจนหรือรวยก็ทำได้” เขาบอก
“หนังสือที่รามฯ ขายถูกเล่มละ 50 กว่าบาท ถ้าไปซื้อเอกสารจากสำนักติวต่างๆ เป็นร้อยเป็นพัน ผมเลยซื้อมา แต่ต้องเก็งข้อสอบเอง เพราะมันกว้างมาก”
แม้จะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน แต่เพราะอยากเปลี่ยนชีวิตทำให้ต้องฮึดขึ้นสู้ และไม่มีคำว่าหยุดพัฒนา
“ผมเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ ผมหันกลับมามองตัวเองแล้วไม่มีต้นทุนอะไรสักอย่าง ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้เลย เพราะฉะนั้นหนังสือจึงเป็นการลงทุนเดียวที่เราทำได้เลยทันที ความรู้มันเป็นต้นทุนที่เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง”
หลังเรียนจบระดับปริญญาตรี เขาก้าวหน้าในอาชีพตามลำดับ ไล่ตั้งแต่นิติกรโครงการจัดทำแบบกฎหมายฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นิติกรประจำกรมวิชาการเกษตร สอบผ่านเนติบัณฑิตไทย และเป็นข้าราชการในตำแหน่ง นิติกรปฏิบัติการ ประจำศาลฎีกาในที่สุด
“ผมคิดไปทีละสเต็ป ไปทีละขั้น ถ้าขั้นนี้ยังไม่สำเร็จผมก็ไม่กล้าคิดข้ามช็อต ตอนแรกขอจบรามฯ ให้ได้ก่อน พอจบแล้วก็อยากจบเนฯ หลังจากนั้นก็คิดว่าอยากจะรับราชการ ผมไม่มีความฝันสูงสุด ตอนนี้คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาให้ได้ครับ”
อาจเป็นเพราะชีวิตต้นทุนต่ำ ทำให้ไม่กล้ามองไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองเห็น และประเมินจุดที่ตัวเองอยู่เสมอ
“ถ้าเรามองเกินตัวไปแล้วทำไม่ได้มัน เราจะท้อ ผมเลือกมองแค่ข้างหน้า และพยายามไปให้ถึง” ชายวัย 28 ปีกล่าว
หลายสิบอาชีพที่ผ่านมาทำให้อาณัติได้เรียนรู้วิธีคิด สภาพการทำงานของแต่ละบุคคลและอาชีพ สะสมจนเป็นทัศนคติที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันดีของ ‘นักกฎหมาย’
“แต่ละอาชีพมันให้ประสบการณ์และทำให้ผมเข้าใจผู้คนมากขึ้น อย่างวิชากฎหมาย เราเข้าใจตัวหนังสือและข้อความก็จริง แต่เราอาจจะไม่เคยเข้าใจหัวอกของชาวบ้านเลยว่าเขารู้สึกอย่างไร เข้าถึงความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน”
“งานราชการมันเป็นการทำงานเพื่อส่วนร่วม ผมหวังว่าจะได้ช่วยเหลือคนอื่นจากความเข้าใจที่ผมมีต่อพวกเขาบางอย่างถ้าเราใช้กฎหมายอย่างเดียว มันไม่สอดคล้องกับสังคม มันต้องตีความ ปรับใช้ให้เข้ากับสังคมและสิ่งที่เป็นอยู่ อาชีพที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันทำให้ผมไม่ถือตัวหรือหลงลืมที่ๆ เราเป็นเคยมา เข้าใจคนอื่นและให้เกียรติทุกอาชีพ”
“กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมากในการต่อสู้และชนะความท้อแท้ บางคนได้รับมันจากครอบครัวที่อบอุ่น แต่สำหรับผมคือศาสนา ผมยึดเหนี่ยวและไม่ออกนอกลู่นอกทาง มีโฟกัสที่ชัดเจนกับเป้าหมาย ผมเองไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อาจจะเพราะเราจน เลยคิดว่ามันสิ้นเปลือง ทำลายสุขภาพ จนมีผลต่อการใช้ชีวิตของเรา” อาณัติวัย 28 บอก
สภาพแวดล้อมและความลำบากในอดีตยังคงตราตรึง ทำให้เขาเข็ดขยาดและไม่อยากเดินกลับไปสู่ตรงนั้นอีก ซึ่งนั่นหมายถึงการรักษาระดับความพยายามให้คงอยู่เสมอ
“มีครั้งหนึ่งตอนเด็กๆ ผมขี้เกียจไปโรงเรียน ไปเล่นกองทรายที่แคมป์ก่อสร้าง แม่ถามผมว่าอยากลำบาก ทำงานตากแดดเหมือนแม่ไหม ผมบอกไม่อยาก แม่บอกงั้นก็ต้องไปเรียน สิ่งนี้แหละที่ผมสอนตัวเองมาตลอดว่าการเรียนรู้จะเปลี่ยนชีวิตเราได้ แม้โอกาสไม่เอื้อแต่อย่าทิ้งมัน สะสมทีละนิดก็ยังดี”
ชายหนุ่มที่มีท่าทางสุภาพ ยกพระราชปรารภเรื่องพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ขึ้นมากล่าวทิ้งท้าย
"ขอจงมีความเพียรที่สมบูรณ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์" โดยบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตของตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางอันน่าชื่นชมและบทเรียนอันน่าเรียนรู้ของ ‘อาณัติ’ ผู้พลิกชะตาด้วยความพยายาม.
ภาพประกอบเรื่องโดย เสกสรร โรจนเมธากุล