ไม่พบผลการค้นหา
รัฐออสเตรเลียใต้พิจารณาฆ่าสัตว์หลายชนิดรวมถึงจิงโจ้และโคอาล่า เนื่องจากมีจำนวนมากเกินไปจนอาจเป็นปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม คณะกรรมการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของรัฐออสเตรเลียใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจเร่งด่วนในการประกาศให้สัตว์บางสายพันธุ์ เช่น จิงโจ้สีเทา โคอาล่า แมวน้ำขนปุยจมูกยาว (long-nosed fur seal) และนกกระตั้วน้อย (little corella) เป็นสัตว์สายพันธุ์ที่มีจำนวนมากเกินไปในบางพื้นที่และดำเนินมาตรการจำกัดจำนวน โดยทางคณะกรรมการชี้ว่าส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม

การฆ่าจำกัดจำนวนก็เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งมีการเสนอ แม้ว่าในรายงานจะระบุว่ามีความลังเลที่จะสื่อสารความจำเป็นในการฆ่าจำกัดจำนวนกับสาธารณะ เพราะเล็งเห็นว่าคนบางกลุ่มย่อมมองว่าการฆ่าจำกัดจำนวนเป็นวิธีที่ป่าเถื่อนโหดร้ายในการจัดการจำนวนประชากรสายพันธุ์ที่มากเกินไป

ในกรณีของโคอาล่านั้น คณะกรรมการได้อ้างถึงหลักฐานจากคณะกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเกาะแคงการู (Kangaroo Island) หรือเกาะจิงโจ้ เพื่อเรียกร้องให้มีการจำกัดจำนวน

"ทางคณะกรรมการคำนึงว่าประชากรโคอาล่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปจนถึงจุดเกิดความเสียหายที่ถิ่นที่อยู่อย่างไม่อาจแก้ไขได้" รายงานดังกล่าวระบุ อีกทั้งทางคณะกรรมยังชี้ว่าทราบมาว่ามาตรการทำหมันโคอาล่าบนเกาะแคงการูนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ประชากรโคอาล่าบนเกาะยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

หลักฐานจากสภาเขตแกรนต์ซึ่งมีพื้นที่ดูแลทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐออสเตรเลียใต้ รายงานว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเมาต์แกมเบียร์ระหว่างปี 2014 ถึง 2016 สูงขึ้นอย่างมากเพราะจิงโจ้อาละวาด

นกกระตั้วน้อย ถูกระบุในคำร้องว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องมีการจัดการในระดับทั่วทั้งรัฐ เนื่องจากมีจำนวนมากเกินไปกระทั่งการจัดการแยกส่วนไม่มีประสิทธิผลอีกต่อไป

สำหรับแมวน้ำขนปุยจมูกยาวนั้น ทางคณะกรรมทราบว่าเป็นสายพันธ์ที่ส่งผลกระทบต่อการประมงเมืองคูรองในรัฐออสเตรเลียใต้

จอช ทีก สมาชิกสภาออสเตรเลียใต้ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กล่าวกับสำนักข่าวเอบีซีว่าต้องมีการตอบโต้อย่างเร่งด่วนในกรณีนี้ สัตว์เหล่านี้แต่ละสายพันธุ์จะต้องมีการรับมือเป็นเฉพาะสายพันธุ์ไป

"เราต้องให้ความรู้ชุมชนและมีมาตรการจัดการที่ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย ซึ่งนั่นอาจรวมถึงการฆ่าเพื่อจำกัดจำนวนด้วย รายงานนี้ชี้ว่าการฆ่าเป็นหนึ่งในมาตรการจัดการ" ทีกกล่าว

คณะกรรมการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เผยว่าได้รับรายงาน 44 ชิ้น และหลักฐานจากพยาน 12 รายเกี่ยวกับปัญหานี้ และได้เสนอคำแนะนำ 13 ชิ้น รวมถึงการปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากมาตรการในปัจจุบันโดยหน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยงานนั้นมีความสับสนและใช้งบสูงมากรวมกันแล้วถึงปีละ 15.7 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 340 ล้านบาท)รายงานบางชิ้นที่คณะกรรมฯ ได้รับชี้ว่ามีการเสียชีวิตหมู่ของสัตว์บางสายพันธุ์เนื่องจากขาดอาหารและน้ำ อีกทั้งถิ่นที่อยู่ยังเสียหายอย่างหนักเนื่องจากมีการกินพืชมากเกิน เป็นผลมาจากการที่ประชากรของสัตว์บางสายพันธุ์มีจำนวนมากเกินไป

ที่มา: Guardian / ABC