ในทางตรงกันข้าม อาลี บองโก ประธานาธิบดีกาบอง ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 3 ซึ่งถูกถอดถอนลงจากอำนาจ ภายหลังการรัฐประหารโดยกองทัพ ได้ปรากฏตัวผ่านวิดีโอในบ้านของเขา โดยบองโกเรียกร้องให้ “เพื่อนทั่วโลก” ของเขา “ส่งเสียงดัง” ในนามของเขาเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารในครั้งนี้ ทั้งนี้ กาบองซึ่งเป็นประเทศอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของแอฟริกา
ทั้งนี้ การโค่นล้มอำนาจบองโกลงจากการปกครองกาบอง นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครองประเทศ ตลอดระยะเวลา 55 ปีของครอบครัวของบองโกเอง ในขณะที่ประชาชนกาบองมีความไม่พอใจที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ต่อการปกครองของครอบครัวบองโก รวมถึงปัญหาอื่นๆ อาทิ ปัญหาค่าครองชีพ ทั้งนี้ กองทัพกาบองยังได้จับกุมตัวบองโก และตั้งข้อหาการเป็นกบฏต่อเขาอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่กองทัพบกกาบองปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธ โดยทหารกาบองกล่าวว่า พวกเขาได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ นอกจากนี้ ทหารกาบองยังได้ประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ส.ค.) ซึ่งบองโกได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านของกาบองกล่าวหาว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เกิดการโกงขึ้น
ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศทำรัฐประหาร บรรดานายพลของกาบองได้พบปะกันเพื่อหารือว่า ใครจะขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านประเทศ และเหล่าทหารกาบองได้เห็นพ้องด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้ง งูมา อดีตหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ประธานาธิบดีกาบอง ขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ทั้งนี้ มีฝูงชนในกรุงลีเบรอวิล และที่เมืองอื่นๆ ของประเทศ ต่างออกมาเฉลิมฉลองการประกาศในครั้งนี้ของกองทัพ
อย่างไรก็ดี การทำรัฐประหารในกาบองครั้งนี้ถูกประณามโดยสหประชาชาติ สหภาพแอฟริกา และฝรั่งเศส ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวบองโก ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้กองทัพกาบอง “รักษาการปกครองของพลเรือน” และเรียกร้องให้ “ผู้ที่รับผิดชอบปล่อยตัว และรับรองความปลอดภัยของสมาชิกรัฐบาล” ในขณะที่สหราชอาณาจักรประณาม "การยึดอำนาจโดยทหารโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ" ในครั้งนี้ของกาบอง
ชื่อของงูมา นายพลวัย 48 ปี ไม่อยู่ในคำแถลง 3 ฉบับแรก ที่เจ้าหน้าที่กองทัพระดับอาวุโสอ่านคำแถลงออกทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อประกาศการรัฐประหาร แต่ไม่นานหลังจากนั้น งูมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่าน และถูกพาตัวไปตามท้องถนน ท่ามกลางความปีติยินดีของเจ้าหน้าที่กองทัพและประชาชน
งูมาเคยเป็นเสนาธิการให้กับ โอมาร์ บองโก พ่อของผู้นำที่ถูกโค่นล้มลงจาอำนาจล่าสุด ซึ่งปกครองกาบองมาเกือบ 42 ปี จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 2552 โดยรายงานข่าวระบุว่า งูมามีความสนิทสนมกับ โอมาร์ บองโก อย่างยิ่ง ด้วยการรับใช้บองโกผู้พ่อมาตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลในสเปน ทั้งนี้ ภายใต้การนำของ อาลี บองโก นอกจากนี้ งูมายังได้ทำงานเป็นผู้ช่วยทูตทหารในสถานทูตกาบองประจำโมรอกโกและเซเนกัลด้วย
อย่างไรก็ดี ในปี 2561 งูมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ภายใต้กองกำลังพิทักษ์พรรครีพับลิกันของกาบอง ซึ่งเป็นหน่วยกองทัพที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ แทนที่ เฟรเดริก บองโก น้องชายต่างมารดาของ อาลี บองโก ก่อนที่เขาจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นนายพล
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนๆ ของกาบอง มีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับกระบวนการลงคะแนนเสียงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดย อัลเบิร์ต ออนโด ออสซา ผู้สมัครคนหลักจากพรรคฝ่ายค้าน ออกมากล่าวว่าหน่วยเลือกตั้งหลายแห่งของกาบอง ไม่มีบัตรลงคะแนนที่มีชื่อของเขา ในขณะที่แนวร่วมที่เขากล่าวว่า ชื่อของบางคนที่ถอนตัวจากการลงรับเลือกเป็นประธานาธิบดี กลับยังคงมีอยู่ในบัตรลงคะแนน
ฝ่ายค้านได้ออกมาโจมตีว่าเกิดการโกงในชัยชนะจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนของบองโก โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางการกาบองมีการเปลี่ยนแปลงเอกสารการลงคะแนนเสียง ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง
ในปี 2561 บองโกป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ จนเขาต้องวางตัวถอยห่างออกจากอำนาจไปเป็นเวลาเกือบ 1 ปี และนำไปสู่การเรียกร้องให้บองโกหลีกทางออกจากการปกครองประเทศ ก่อนที่ในปีต่อมา กาบองจะเกิดความพยายามในการก่อรัฐประหาร แต่การก่อรัฐประหารในครั้งนั้นประสบกับความล้มเหลว และส่งผลให้ทหารที่กบฏถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ
ที่มา: