คุณธรรม จริยธรรม ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการใช้ควบคุมบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ อย่างเป็นลายลักอักษรครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 และเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งข้อห้ามที่มีจำนวนมากขึ้น และบทลงโทษที่หนักมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ทว่ามาตรฐานจริยธรรมในแต่ละยุคนั้น ล้วนแต่มีที่มา ข้อกำหนด และบทลงโทษที่แตกต่างกัน
ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 77 บัญญัติให้ “รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทํามาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดํารงตําแหนงทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจางอื่นของรัฐ เพื่อป้องกัน การทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้มีสภาพบังคับ ไม่มีบทกําหนดโทษในกรณีหากมีการ ฝ่าฝืน รวมทั้งไม่ได้กําหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่กํากับดูแลการจัดทําประมวลจริยธรรมและการคุ้มครองการละเมิดประมวลจริยธรรมโดยเฉพาะ
หากมองย้อนไปก่อนหน้านั้น ในปี 2542 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบแผนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมในการบริหารภาครัฐ โดยกําหนดให้รัฐจัดทํา “ค่านิยมสร้างสรรค์สําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ต่อมาในปี 2543 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีมติเห็นชอบให้นําค่านิยมสร้างสรรค์ไปเป็นแนวทางสําคัญในการจัดทํามาตรฐานทางคุณธรรม และจริยธรรมของทุกส่วนราชการ โดยกําหนดไว้ 5 ประการ คือ 1.กล้ายืนหยัดทําในสิ่งที่ถูกต้อง 2.ซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบ 3.โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.ไม่เลือกปฏิบัติ 5.มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
ค่านิยมสร้างสรรค์ 5 ประการนี้ ได้มาจาการคณะอนุกรรมการปรับปรุงวัฒนธรรมและค่านิยมของเจ้าหนาที่ของรัฐในขณะนั้น ซึ่งมี สํานักงาน ก.พ. เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยสกัดเนื้อหาค่านิยมสร้างสรรค์โดยยึดแนวทางตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน หลักทศพิธราชธรรม หลักธรรมาภิบาล และทัศนคติและค่านิยมที่พึงประสงค์สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ
นอกจากนั้นยังได้จัดให้มีการสํารวจความคิดเห็นกับข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการสัมมนาประชาพิจารณจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสื่อมวลชนจนได้เป็นแนวทาง ๕ ประการ โดยให้แต่ละกระทรวงเป็นศูนย์กลางในการจัดทํา และรณรงคให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือและประพฤติปฏิบัติ
รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เพิ่มหมวดใหม่เข้ามาคือ หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในมาตรา 279 กำหนดให้ มีมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท พร้อมกำหนดชัดว่า จะต้องมีกลไก และระบบในการดําเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกําหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมให้ถือว่าเป็นการกระทําผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงาน ต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทําผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดําเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตําแหน่งตามมาตรา 270 ซึ่งให้อำนาจกับวุฒิสภาในการดำเนินการพิจารณาถอดถอน โดยการส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ไต่สวน หากคณะกรรมการมีมติเสียงข้างมากว่ามีมูล นับตั้งวันดังกล่าว ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติออกมา
ทั้งนี้ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานไปยังวุฒิสภาเพื่อประชุมพิจารณาถอดถอน และส่งเรื่องไปที่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยมาตรา 278 กำหนดให้ ส.ว.มีอิสระในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งต้องกระทําโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตําแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่ วุฒิสภามีมติ และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดํารงตําแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี
มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนกับพิจารณาคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
สำหรับที่มาของมาตรฐานจริยธรรมนี้ มาตรา 280 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คําแนะนํา ในการจัดทําหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรม เพื่อให้มีหน่วยงานทําหน้าที่ให้คําปรึกษาแนะนําและกํากับดูแล การจัดทําประมวลจริยธรรมโดยตรง
การกำหนดค่านิยมหลักสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไว้ 9 ประการ เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
1.การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
2.การมีจิตสํานึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริตและรับผิดชอบ
3.การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 4.การยืนหยัดทําในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรมและถูกกฎหมาย
5.การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัยและไม่เลือกปฏิบัติ
6การให้ข้อมูลข่าวสารแกประชาชนอยางครบถ้วน ถูกต้องและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
7.การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้
8.การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข
9.การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร
ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติถึงมาตรฐานจริยธรรมไว้ในหมวดองค์กรอิสระ มาตรา 219 โดยกำหนดให้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ในการจัดทํามาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกําหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ร่วมกันกำหนด มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561
โดยมีการแบ่งจริยธรรมออกเป็น 3 หมวดด้วยกันคือ
หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก
หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป
ทั้งนี้ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ส่วนการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ
โดยการลงโทษหากมีการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงนั้น บัญญัติในมาตรา 235 บุคคลที่อาจถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อศาลฎีกา ได้แก่ผู้ดํารงตําแหน่งต่อไปนี้
(1) นายกรัฐมนตรี
(2) รัฐมนตรี
(3) สมาชิกสภาผูแทนราษฎร
(4) สมาชิกวุฒิสภา
(5) ขhาราชการการเมืองอื่นนอกจาก นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยระเบี ยบข้าราชการการเมือง
(6) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(7) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(8) กรรมการการเลือกตั้ง
(9) ผู้ตรวจการแผ่นดิน
(10) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(11) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(12) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
(13) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ส่วนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีบทบัญญัติดำเนินการไว้เฉพาะแล้วในมาตรา 236
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรสงสัยหรือการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีพฤติการณฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างรายแรง ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
หากเห็นว่ามีมูลให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยเมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคําสั่ง เป็นอยางอื่น
ในกรณีที่ศาลฎีกามีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่ง นับแต่วันหยุดปฏิบัติหนาที่ (วันที่ศาลฎีกาประทับรับฟ้อง) และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผูแทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ
1) ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ กรณี เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบเมื่อ 18 ปีก่อน
25 มี.ค.2564 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
2) กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย จากกรณีสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินรุกป่าเขาใหญ่ซึ่งกรณีเกิดขึ้นนานแล้ว
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
3) ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีถูกกล่าวหาเสียบบัตรลงคะแนนแทนผู้อื่น
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
4) อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จากกรณีเรียกรับเงิน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการผ่านงบประมาณ
6 ม.ค.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
5) พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ จากกรณีโพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ร้าย
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง