ไม่พบผลการค้นหา
'เผ่าภูมิ' แย้งผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันตั้งรัฐบาลช้าคือ 'สุญญากาศ ศก.' Digital Wallet ไม่ประชานิยม แต่พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

วันที่ 10 ส.ค. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นในงานสัมนาของ ธปท. ว่า

ผมมีความเห็นแลกเปลี่ยนกับผู้ว่าแบงก์ชาติ 5 ประเด็น

1. เข้าใจความกังวลของผู้ว่าแบงก์ชาติเรื่อง ประชานิยม ซึ่งหากรัฐบาลใหม่หมายถึงรัฐบาลเพื่อไทย นโยบายนี้ก็คงจะหมายถึง Digital Wallet ซึ่งผมแลกเปลี่ยนดังนี้

1.1. Digital Wallet ไม่ใช่ประชานิยม แต่คือการชุบชีวิต ศก. ครั้งใหญ่ 10,000 บาทสำหรับทุกคน (16 ปีขึ้นไป) สร้างพายุหมุนทาง ศก. กระจายอยู่ทั่วทุกชุมชนทั่วประเทศ Digital Wallet เป็นความจำเป็น ไม่ใช่ทางเลือก ในจังหวะที่ประเทศบอบช้ำ และการสร้างกำลังซื้อตามธรรมชาตินั้นไม่ทันการ

1.2. เทคโนโลยี Blockchain ของ Digital Wallet สร้างเงินหมุนได้รวดเร็ว ตรงเป้า เขียนเงื่อนไขและระยะเวลาได้ จะเกิดเงินหมุนที่พลังสูงกว่าและเป็นตัวจุดกำลังซื้อรวดเร็วแม่นยำกว่าแบบดั้งเดิม

1.3. Digital Wallet นอกจากกระตุ้น ศก. ยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินรองรับโลกยุคใหม่ พลิกโฉมประเทศ การลงทุนที่จะตามมานั้นมีผลตอบแทนมากกว่าเงินที่ลงทุนไป

1.4. ทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญสูงสุดต่อความมั่นคงทางการคลัง ทุกบาทที่ใช้ต้องมีผลตอบแทนสูง และย้อนกลับมาเป็นความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว

2. เห็นตรงกันว่าหนี้ครัวเรือนคือปัญหาใหญ่ แต่เห็นต่างกันที่ต้นตอของหนี้ครัวเรือน ธปท. มองว่าเกิดจากดอกเบี้ยต่ำ คนจึงก่อหนี้เยอะ แต่ข้อเท็จจริงนั้นเกิดจากประชาชนและภาคเอกชนรายได้ทรุดลงอย่างกะทันหัน (Income Shock) จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อการดำรงชีวิต และความอยู่รอดของธุรกิจ พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายเข้าแก้ไขปัญหาใน 2 ขั้นตอนทันที 1.แก้หนี้ทันที ทั้งมาตรการพักหนี้เกษตรกร และหนี้ SME ในรหัส 21 ที่เดือดร้อนจากโควิด และ 2.สร้างงานสร้างรายได้ทันที เริ่มจาก Digital Wallet ตามด้วยการดึงรายได้ใหม่เข้าประเทศจากการดูดการลงทุนใหม่ เปิดประเทศด้วยนโยบายต่างประเทศเชิงรุกทันที เป็นต้น

3. เห็นแย้งกับ ธปท. ที่ไม่กังวลกับการตั้งรัฐบาลช้า การขาดงบลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาทไปครึ่งปีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าสบายใจ เสมือนรถใส่เกียร์ว่าง ไร้คันเร่ง ที่กำลังถูกแซงไปครึ่งปี สำคัญกว่านั้นคือส่วนที่ไม่ใช่งบประมาณ ค่าเสียโอกาสของประเทศจากการชะลอการลงทุน การสูญเสียความเชื่อมั่น การย้ายฐานการผลิต ความสูญเสียในตลาดทุน และการขาดทิศทางของประเทศ เหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้ คือสุญญากาศทางเศรษฐกิจ

4. เสถียรภาพ vs ศักยภาพ ของสถาบันการเงิน ตรงนี้เห็นต่าง ที่ผ่านมาไทยติดกับดักคำว่าเสถียรภาพ สร้างธนาคารเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง แต่กลับไม่ถูกใช้เป็นกลไกผลักดันทางเศรษฐกิจไปสู่รากหญ้าและ SME เพราะกลัวความเสี่ยง และกันคนเสี่ยงออกนอกระบบ จนการสร้างศักยภาพจากฐานของประเทศยังทำได้ไม่ดีพอ

5. พรรคเพื่อไทย หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะเดินหน้าพลิกโฉมประเทศสู่ ศก.ยุคใหม่ โดยวิธีคิดแบบใหม่ สร้างรายได้แบบใหม่ ทัศนคติใหม่ แนวทางการบริหารแบบใหม่ สู่การพลิกโฉม ศก.ไทย และสร้างการทำงานประสานระหว่างนโยบายทางการคลังกับนโยบายทางการเงินอย่างไร้รอยต่อ