พิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ หรือ Academy Awards หมุดหมายสำคัญของบุคลากรในวงการศิลปะการแสดงและภาพยนตร์ทั่วโลก จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 91 ที่นครลอสแอนเจลิสของสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มตามเวลาท้องถิ่น เมื่อ 20.00 น.วันที่ 24 ก.พ. 2562 ซึ่งตรงกับช่วงเช้าวันที่ 25 ก.พ.ตามเวลาไทย
หลังจากเรตติ้งรับชมการถ่ายทอดสดของพิธีประกาศรางวัลออสการ์ทางโทรทัศน์ผ่านทางสถานี ABC ตกต่ำลงเมื่อปีที่แล้ว ABC ได้เพิ่มช่องทางการรับชมถ่ายทอดสดผ่านการสตรีมมิ่งออนไลน์ในปีนี้ โดยที่ผู้ได้รับรางวัลใหญ่สาขาต่างๆ ในพิธีประกาศรางวัลออสการ์ปีที่ 91 ประกอบด้วย
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Green Book
ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม: Roma
ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม: Period. End of Sentence.
ผู้กำกับยอดเยี่ยม: อัลฟองโซ กัวรอน จาก Roma
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม: รามี มาเล็ก จาก Bohemian Rhapsody
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: โอลิเวีย โคลแมน จาก The Favourite
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม: มาเฮอร์ชาลา อาลี จาก Green Book
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม: เรจินา คิง จาก If Beale Street Could Talk
เพลงประกอบยอดเยี่ยม: Shallow ร้องโดย เลดี กาก้า และ แบรดลีย์ คูเปอร์ จาก A Star is Born
ภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุดในปีนี้ รวมทั้งหมด 10 สาขา ได้แก่ The Favourite และ Roma ขณะที่ Bohemian Rhapsody ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ 'เฟร็ดดี เมอร์คิวรี' ฟรอนต์แมนของวงควีนซึ่งโด่งดังในระดับตำนาน เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลไปครองมากที่สุด รวม 4 สาขา
รามี มาเล็ก ผู้รับบทเป็นเฟร็ดดี ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายจากเวทีออสการ์ไปครองโดยที่ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมสาขาดรามามาก่อนแล้วจากเวทีประกาศรางวัลศิลปะภาพยนตร์ Golden Globes ของอังกฤษ จากเรื่อง Mr. Robot
นับตั้งแต่ปี 2008 'บารัก โอบามา' ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของสหรัฐฯ บรรยากาศทางการเมืองของสหรัฐฯ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วย
ภาพยนตร์เกี่ยวกับชาวแอฟริกัน-อเมริกันเริ่มมีที่ทางมากขึ้นในเวทีออสการ์ หลังจากที่ผ่านมา เวทีแห่งนี้มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกกำกับและควบคุมโดยกลุ่ม 'ผู้ชายผิวขาว' ทำให้เวทีขาดความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ จนกระทั่งเรื่องราวการต่อสู้ของชีวิตทาสผิวดำในสหรัฐฯ เมื่อครั้งอดีตอย่าง 12 Years a Slave ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2013
ขณะที่ปีนี้ ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรของเหล่านักแสดงผิวดำอย่าง Black Panther ก็เป็นภาพยนตร์แอ็กชั่นซูเปอร์ฮีโรเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งแม้จะไม่ได้รางวัลใหญ่ไปครอง แต่ก็ได้รับรางวัลสาขาอื่นๆ ทั้ง คอสตูมยอดเยี่ยม, โปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
ส่วนรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมซึ่งตกเป็นของ Green Book ในปีนี้ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นแรงงานผิวขาวเชื้อสายอเมริกัน-อิตาลี กับนักดนตรีแอฟริกัน-อเมริกันที่มีปูมหลังหลังแตกต่างชาวแอฟริกันอเมริกันอีกเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ และทั้งคู่ต้องเดินทางร่วมกันเพื่อไปแสดงคอนเสิร์ตในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ในยุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิว จนทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้ความเหมือนและแตกต่างในชีวิตของกันและกัน รวมถึงก่อเกิดความพยายามที่จะข้ามพ้นมายาคติเรื่องสีผิวและอัตลักษณ์
แม้กรีนบุ๊กจะได้รับรางวัลออสการ์ไปครอง แต่ภาพยนตร์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าพยายามจะสะท้อนภาพการอยู่ร่วมกันของชาวอเมริกันต่างเชื้อชาติที่ลงเอยด้วยดี โดยลดทอนความรุนแรงของการเหยียดผิวในอดีตของสหรัฐฯ จนกลายเป็นการกดทับบาดแผลของผู้ที่เคยได้รับผลกระทบไป
นักวิจารณ์บางส่วนมองว่า Green Book เป็น ภาพในอุดมคติที่คนอเมริกันอยากให้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน หลังจากที่กระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ เฟื่องฟูขึ้น เมื่อบารัก โอบามา สิ้นสุดวาระประธานาธิบดี 2 สมัย และ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ผู้เสนอนโยบาย 'อเมริกาต้องมาก่อน' ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งสนับสนุนการควบคุม-กีดกันผู้อพยพและแรงงานต่างชาติไม่ให้เข้ามาในสหรัฐฯ ในขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมการแสดงและภาพยนตร์ในสหรัฐฯ เรียกร้องให้เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย สวนทางกับบรรยากาศความเกลียดชังระหว่างชาวอเมริกันผิวขาวกับผู้อพยพในสหรัฐฯ ซึ่งทวีความรุนแรงและมัการปะทะเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านแนวคิดชาตินิยม
คำกล่าวขณะขึ้นรับรางวัลของ 'สไปก์ ลี' ผู้กำกับชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลแรกในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก BlackkKlansMan เรื่องราวของชาวผิวดำที่เป็นสมาชิกขบวนการเหยียดผิวในสหรัฐฯ เมื่อครั้งอดีต จึงพูดถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ อีก 2 ปีข้างหน้าโดยตรง
"การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 จะมาถึงในอีกไม่ช้า เราต้องก้าวไปข้างหน้า และต้องเลือกข้างที่ถูกต้องในประวัติศาสตร์ เลือกในสิ่งที่ดีงาม ระหว่างความรักและความเกลียดชัง เราจะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง"
ขณะที่ 'รามี มาเล็ก' ผู้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Bohemian Rhapsody ก็กล่าวบนเวทีขณะขึ้นรับรางวัลว่าตัวเขานั้นเป็นชาวอเมริกัน 'เชื้อสายอียิปต์' รุ่นที่ 3 และการได้คว้ารางวัลใหญ่ในปีนี้จะเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตัวเขา ซึ่งการกล่าวย้ำเช่นนี้เป็นการยืนยัน 'ที่ทาง' ของเหล่า 'ลูกหลานผู้อพยพ' ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งในสหรัฐฯ ที่พยายามปฏิเสธว่า 'ผู้อพยพ' เหล่านี้ 'ไม่จำเป็น' หรือ 'ไม่ส่งผลดี' ต่อสังคมอเมริกัน
นอกเหนือจากการเมืองเรื่อง 'เชื้อชาติ' ก็ยังมีการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวทีออสการ์ช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา โดยการเคลื่อนไหวต่อต้าน 'การเลือกปฏิบัติทางเพศ' เริ่มมีให้เห็นเมื่อปี 2015 หลังจากที่ 'รีส วิทเธอร์สปูน' นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชื่อดังชาวอเมริกัน ให้สัมภาษณ์ว่าผู้สื่อข่าวบันเทิงควรจะถามนักแสดงหญิงให้มากกว่าแค่เรื่องเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่เธอสวมใส่มาร่วมพิธีประกาศรางวัล
กระแสแฮชแท็ก #AskHerMore ในสื่อสังคมออนไลน์ จึงเรียกร้องให้สื่อบันเทิงอย่าเลือกปฏิบัติกับนักแสดงหญิงด้วยการถามแต่คำถามเบาๆ อย่างเสื้อผ้าหน้าผม ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้สื่อข่าวสายอื่นๆ ในสหรัฐฯ และนักแสดงหญิงอีกหลายคน การรายงานข่าวพิธีมอบรางวัลออสการ์ใน 2-3 ปีถัดมาจึงไม่ได้มุ่งเน้นที่แฟชั่นแบรนด์เนมมากนัก
แต่ในช่วงปี 2018 เริ่มมีกระแสต่อต้านแฮชแท็ก #AskHerMore จากกลุ่มนักออกแบบและบุคลากรในแวดวงแฟชั่น ซึ่งมองว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างสุดโต่งเกินไปจะทำลายอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวงการภาพยนตร์เช่นกัน เพราะคนที่ทำงานอย่างหนักในแวดวงนี้จะไม่ถูกชมเชยหรือพูดถึงผลงานที่ทำมา เนื่องจากสื่อบันเทิงในสหรัฐฯ บางคนยอมรับว่าไม่กล้าถามเรื่องแฟชั่นในเวทีออสการ์ เพราะกลัวจะถูกตีความว่ากำลังดูหมิ่นนักแสดงหญิงว่า 'ไร้สมอง'
กลุ่มผู้รณรงค์ต่อต้านกระแส #AskHerMore ย้ำว่า การถามประเด็นหนัก ๆ กับนักแสดงหญิงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ควรถามเรื่องความสวยความงามและแฟชั่นด้วย อย่าให้ถึงกับเป็นเรื่อง 'ต้องห้าม' จนถามไม่ได้
ส่วนกระแส #MeToo ซึ่งเหล่านักแสดงหญิงและบุคลากรในวงการบันเทิงจำนวนมากรวมตัวกันต่อต้านการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดยเป็นการรับไม้ต่อจากนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศว่าไม่ควรจะต้องเงียบเสียงอีกต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ถูกละเมิดไม่ได้รับการเยียวยาแล้ว ยังทำให้ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดลอยนวลพ้นผิดไปได้
การเคลื่อนไหวประเด็นทางเพศเรื่องต่อมาคือกระแส #TimesUp ที่นักแสดงหญิงในฮอลลีวูดพร้อมใจกันแต่งชุดดำร่วมพิธีมอบรางวังลภาพยนตร์เมื่อปีที่แล้ว เพื่อแสดงพลังต่อต้านการคุกคามทางเพศ และรณรงค์ระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุละเมิดทางเพศ
จากกรณีดังกล่าว ทำให้นักแสดงหญิงชื่อดัง นักแสดงเอ็กซ์ตราและบุคลากรตำแหน่งต่างๆ ทยอยเปิดโปงพฤติกรรมคนดังที่มีอิทธิพลในวงการ เช่น ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คนสำคัญของฮอลลีวูด ถูกตั้งข้อหาว่าคุกคามและละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายคน ซึ่งในภายหลัง กระแสต่อต้านการคุกคามทางเพศไม่ได้จำกัดแค่ผู้หญิงและผู้ชาย แต่รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้นักแสดงชื่อดัง เช่น เควิน สเปซีย์ ถูกถอดจากละครซีรีส์ดัง หลังจากเขาถูกกล่าวหาว่าเคยล่วงละเมิดผู้เยาว์ชาย
เช่นเดียวกับ เอเชีย อาร์เจนโต นักแสดงหญิงที่ออกมาเปิดโปงการคุกคามทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน และเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม #MeToo ช่วงแรกๆ ถูกนักแสดงชายรุ่นน้องฟ้องร้องว่าถูกเธอคุกคามทางเพศในขณะที่เขายังเป็นผู้เยาว์
แม้จะมีผู้นำประเด็นของเอเชีย อาร์เจนโต มาโจมตีขบวนการ #MeToo แต่ผู้ที่เคลื่อนไหวในขบวนการกลับมองว่ากรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ให้ผู้ถูกละเมิดไม่เงียบเฉยนั้น 'ได้ผล' เพราะที่จริงแล้วผู้ชายจำนวนมากก็เคยถูกคุกคามหรือถูกละเมิดทางเพศ แต่กลับไม่กล้าที่จะบอกใครหรือเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะถูกค่านิยมสังคมกดทับว่าผู้ชายซึ่งถูกละเมิดนั้น 'อ่อนแอ' แต่ขบวนการ #Metoo มองว่าเรื่องเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้
ส่วนการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น โดยพิธีประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้ 'ไม่มีพิธีกรหลัก' หลังจาก 'เควิน ฮาร์ต' ขอถอนตัว เพราะถูกสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่เหมาะสมจะทำหน้าที่ หลังจากที่มีคนนำข้อความที่เขาเคยเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์เมื่อสิบปีที่แล้วมาโจมตีว่าเขาเป็นพวกเหยียดเพศ เพราะข้อความดังกล่าวเป็นการพูดถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในทางที่ไม่ดี
ฮาร์ตยอมรับว่าเขาเคยทวีตข้อความต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจริง แต่เวลาผ่านมานานหลายปี เขาได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนความคิดไปแล้ว แต่ก็ประกาศขอถอนตัวจากการเป็นพิธีกรหลักในเวทีออสการ์ปีนี้ เพราะไม่อยากให้ความสนใจของสื่อพุ่งเป้ามาที่ข้อความเก่าๆ ที่เขาเคยทวีต
ขณะที่การประกาศจุดยืนเรื่องเพศสภาพที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในเวทีออสการ์ปีนี้ ได้แก่การสวม ชุดทักซีโดและกระโปรงยาว ของ บิลลี พอร์เทอร์ นักดนตรี-นักแสดงผิวดำ เจ้าของรางวัลแกรมมีปี 2014 ที่ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ และสวมชุดที่ออกแบบโดย 'คริสเตียน ซีรีอาโน' จุดประเด็นในเวทีออสการ์ปีนี้ได้อย่างชัดเจน
"เป้าหมายของผมคือการแสดงตัวตนและจุดยืนทางการเมืองผ่านศิลปะที่สวมใส่ เพื่อท้าทายความคาดหวังของคนในสังคมว่า นิยาม 'ความเป็นชาย' คืออะไรกันแน่? ผู้หญิงสวมกางเกงเป็นเรื่องปกติแล้วในทุกวันนี้ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้ชายสวมชุดกระโปรง ก็จะแปลกแยกทันที"
เขาระบุว่า การเป็นคนผิวดำและเป็นเกย์ในวงการดนตรีสหรัฐฯ ทำให้เขาต้องเผชิญกับการปฏิบัติและคำพูดที่มีนัยเหยียดเพศอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมาเขาเลือกที่จะเงียบ จนกระทั่งได้ร่วมเล่นละครเพลงเรื่อง Kinky Boots จนได้รับรางวัล Tony Award เมื่อปี 2013 ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจที่จะสวมชุดกระโปรงหรือรองเท้าส้นสูง โดยที่ในขณะเดียวกันก็รู้สึก 'เข้มแข็ง' และ 'เป็นอิสระ' ด้วย
ในปีนี้ พอร์เทอร์ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีออสการ์ เขาระบุว่า ในเมื่อมีโอกาสได้เดินบน 'พรมแดง' เขาจึงเลือกที่จะสวมชุดราตรีผสมทักซีโด เพื่อประกาศจุดยืนทางการเมืองในเรื่องนี้ เพื่อให้ประเด็นที่เขาต้องการสื่อสารได้รับความสนใจจากสังคม
ที่มา: CBS News/ CNN/ Forbes/ Vogue
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: