ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2566 นี้ ‘วอยซ์’ ขอนำเสนอซีรีส์บทสัมภาษณ์ “ผู้สมัคร Young Blood” ชวนรู้จักผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่-เลือดใหม่ จากหลายพรรคการเมือง พวกเขาเป็นใครก่อนตัดสินใจเดินหน้าทำงานการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดอ่านอย่างไรต่อการเมืองไทยในตอนนี้และในอนาคต รวมถึงเหตุผลในการเลือกพรรคการเมืองต้นสังกัดว่าทำไมพรรคนี้จึง ‘ใช่’ สำหรับพวกเขา

วอยซ์ มุ่งหน้าสู่รัฐสภา แยกเกียกกาย พูดคุยกับ ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน วัย 33 ปี ผู้สมัคร ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 1 พื้นที่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พรรคก้าวไกล อดีตนิสิตภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คนที่ “ทำกิจกรรมอย่างบ้าคลั่ง” สมัยเป็นนักศึกษา ชอบใช้ชีวิตอยู่นอกห้องเรียนมากกว่าอยู๋ในห้องเรียน โดยมักจะลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อไปเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน และเนื่องจากช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงต่อเนื่องของเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เขาจึงมีโอกาสได้ไปร่วมสัมผัสการชุมนุมของทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง

ซึ่งเขายอมรับว่า ด้วยความที่เป็นคนใต้ มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2548-2549 จึงเคยเข้าไปอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้าน ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดการตกผลึกว่า จริงๆแล้ว ปัญหาของการเมืองไทย ไม่ใช่ตัวบุคคลจากตระกูลใดตระกูลหนึ่ง อย่างที่ตระกูลชินวัตรถูกกล่าวหา แต่เป็นการรัฐประหารล้มระบอบการปกครอง และการที่ชนชั้นนำแตะต้องไม่ได้ จึงทำให้เกิดข้อสรุปว่า เขาเห็นด้วยกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมากกว่า

ปกรณ์ เมืองคอน กก 4.jpgปกรณ์ เมืองคอน กก 6.jpg

เขาเล่าให้ฟังว่า ตัวเองมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วหลายอาชีพ หลังเรียนจบในระดับชั้น ม.6 ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพครั้งแรก และได้งานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พอเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้ไปทำงานภายในสถานีโทรทัศน์ และเมื่อลาออกจากงานสื่อสารมวลชน ก็ได้ทำงานในฐานะ NGO ก้ำกึ่งการเป็นออร์แกไนเซอร์จัดกิจกรรมภายในงานต่างๆ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้องค์กรพัฒนาเอกชน โดยช่วงหลังปี 2562 เป็นต้นมา จึงได้เริ่มต้นทำงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเขาเป็นอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ด้วย

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจทำงานร่วมกันกับพรรคอนาคตใหม่ เขาเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการจัดกิจกรรม “รำลึก 1 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.” หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2558 นำโดย รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหากจะให้พูดแบบไม่อาย คือเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะออกไปสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เสียด้วยซ้ำ 

ครั้งแรกเราแค่ไปดูว่าน้องๆทำอะไร แต่แค่ไปดู เราเลยถูกจับด้วย ก็เลยรู้แล้วว่า เผด็จการมันไม่เลือก เผด็จการไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นใคร แต่ถ้าคุณยืนอยู่ตรงนั้น เขาบอกให้คุณกลับบ้าน แล้วไม่กลับ เขาก็จับ
ปกรณ์ เมืองคอน กก 1.jpg

เขาจึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้กับเผด็จการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และผลของการต่อสู้เหล่านั้น ทำให้เขามีคดีติดตัวมากถึง 8 คดี เมื่อไปสมัครงานตามที่ต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธ การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเรียกว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว จึงมีทางเลือกอยู่สองทางระหว่างการอยู่ในวงการจัดงานอีเว้นท์ไปเรื่อยๆ หรือกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช แต่บังเอิญว่าหลังการเลือกตั้ง 2562 ได้รับการติดต่อจากพรรคอนาคตใหม่มาว่า พรรคอยากทำงานร่วมกับภาคประชาชน จึงได้ตอบรับมาเป็นหัวหน้าคณะทำงานส.ส. ให้กับ รังสิมันต์ ในที่สุด และได้ใช้บทบาทนี้ในการติดต่อประสานงานนำประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในประเด็นต่างๆ เข้ามายื่นหนังสือต่อสภาฯ ซึ่งเขารู้สึกดีใจ แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลแล้ว แต่โจทย์ของพรรค คือ การทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลับมาเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ตอบสนองปัญหาของพวกเขาได้ 

ดังนั้น การตัดสินใจเปิดตัวเล่นการเมืองในตอนนี้ เพราะเขามองว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองทั้งประเทศกำลังเปลี่ยน คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ หรือวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมอีกแล้ว ดังนั้น ถ้ารอให้การเมืองเปลี่ยนทั้งหมดก่อนแล้วค่อยไปทำพื้นที่ เขามองว่าจะเป็นการเอาเปรียบทั้งตัวพรรคและบุคลากรของพรรค แต่ถ้าทำตอนนี้ ต่อให้ยังไม่ชนะ ก็ถือว่าได้ไปลุยทำงานทางความคิด สร้างฐานที่มั่นให้กับพรรคแล้ว 

ปกรณ์ เมืองคอน กก 5.jpg
คนจะเลือกพรรคก้าวไกลด้วยความชัดเจนทางการเมืองมีอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนให้คนมาเลือกผู้สมัครเขต หรือเพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้ในพื้นที่นั้นๆ หน้าที่ของผู้สมัคร ส.ส.เขต คือ ต้องบอกประชาชนให้ได้ว่า ถ้าเลือกพรรคก้าวไกล ชีวิตพวกเขาจะดีกว่าอย่างไร ปากท้องจะดีกว่าอย่างไร

เขาบอกด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่บางคนรู้สึกว่า ถ้าเขาเป็นผู้สมัครพรรคอื่น คงเลือกง่ายกว่า แต่เพราะเขาเข้ามาทำงานการเมืองและผ่านการทำงาน NGO รวมถึงทำกิจกรรมมามากพอที่จะเข้าใจได้ว่า ปัญหาของประเทศนี้ต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ว่าจะราคาพืชผลเกษตร รัฐสวัสดิการ หรือการประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงประเด็นของประชาชน และพรรคการเมืองเดียวที่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างก็คือพรรคก้าวไกล ถ้าหากไม่มีพรรคที่ยืนหยัดในอุดมการณ์นี้ เขาก็คงไม่เป็นผู้สมัคร ส.ส.

ปกรณ์ เมืองคอน กก 2.jpgปกรณ์ เมืองคอน กก 7.jpg

ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog