ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุฯ แจงพายุโซนร้อนโมลาเบ อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชันบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว คาดจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเป็นบริเวณกว้าง

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง 'พายุดีเปรสชัน 'โมลาเบ' (พายุระดับ 2) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563)' ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (29 ต.ค.) พายุโซนร้อน 'โมลาเบ' (พายุระดับ 3) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน (พายุระดับ 2) บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ 1) ในระยะต่อไป ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง

ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้

ภาคเหนือ: จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ในวันที่ 30 ต.ค. 2563 จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักมีดังนี้

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้