นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ก.ค. 2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเพิ่มเติม จากเดิมที่ผู้ขึ้นทะเบียนสามารถจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้เท่านั้น ให้สามารถกระจายยาโมลนูพิราเวียร์และยาต้านไวรัสอื่นๆ ไปในระดับคลินิกเวชกรรมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 ได้แต่ยังต้องเป็นการจ่ายยาโดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามแนวทางการใช้ยาของกระทรวงสาธารณสุข และใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ คลินิกเวชกรรมสามารถจัดหายาได้เองจากบริษัทเอกชนที่นำเข้าและขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคโควิด-19 มีการใช้ยาที่เกี่ยวข้องหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกลุ่มยาต้านไวรัส ซึ่งปัจจุบันได้มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. จำนวนหลายทะเบียน โดยเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชน ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 3 ทะเบียน ยาเรมเดซีเวียร์ (Remdesivir) 5 ทะเบียน ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) 1 ทะเบียน ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 2 ทะเบียน และมียาที่นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ บริษัทเอกชนทั้งหมดที่มาขึ้นทะเบียนและเป็นผู้นำเข้ายาจะสามารถจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ เช่น ยาเรมเดซีเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนโดยบริษัทเอกชน 5 บริษัท ได้มีการจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีการปิดกันหรือผูกขาดการนำเข้ายาแต่อย่างใด และล่าสุด ทาง อย. ยังได้มีประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจำหน่ายยาไปยังคลินิกเวชกรรมได้อีกด้วยเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาและการรับยาเพิ่มเติมของประชาชน