ไม่พบผลการค้นหา
จ.ร้อยเอ็ด ถูกปกคลุมด้วยกระแส 'สีแดง' แบรนด์ 'เพื่อไทย' ชนะแบบถล่มทลายถึง 19 อำเภอ จาก 20 อำเภอ 'เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์' อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยได้รับฉันทานุมัติจากคนร้อยเอ็ด ให้เป็นนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ประสบการณ์การเมืองระดับชาติมากล้น เพราะผ่านผู้แทนราษฎรมา 5 สมัยตั้งแต่สังกัดพรรคความหวังใหม่ เมื่อปี 2535 กระทั่งมาสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

301,188 คะแนน คือคะแนนที่ คนร้อยเอ็ดทั้งจังหวัดมอบให้ 'เศกสิทธิ์' และ 'พรรคเพื่อไทย' ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ย. 2565

กระแส 'เพื่อไทย' แลนด์สไลด์ร้อยเอ็ด ยังเกิดขึ้นในปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สภาฯ จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 2566

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด ได้ลงนามในประกาศผลการนับคะแนนในเขตเลือกตั้ง จ.ร้อยเอ็ด เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ร้อยเอ็ด 301,188 คะแนน

ส่วนลำดับรองลงมาคือ จุรีพร สินธุไพร ผู้สมัครหมายเลข 4 สังกัดอิสระ ได้ 126,565 คะแนน , รัชนี พลซื่อ ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 116,224 คะแนน ซึ่งลงแทน เอกภาพ พลซื่อ อดีตนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ที่ถูกศาลอุทธรณ์ให้ใบแดง (เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ส่วน โยทกา โคตุระพันธ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 ได้  5,245 คะแนน

ขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จ.ร้อยเอ็ด 1,042,390 คน มาใช้สิทธิ 576,066 คน (55.26%) บัตรดี 549,222 บัตร บัตรเสีย 14,585 บัตร และมีบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 12,259 บัตร

ร้อยเอ็ด เศกสิทธิ์ แพทองธาร -E617-4197-A6BE-9C62AD77BF15.jpeg

หากย้อนไปในการเลือกตั้ง นายก อบจ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 2563 เอกภาพ พลซื่อ ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้รับเลือกตั้ง 221,845 คะแนน 

ขณะที่คู่แข่ง มังกร ยนต์ตระกูล หมายเลข 3 สังกัดอิสระ กลุ่มเพื่อไทยร้อยเอ็ด และยังมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ 'เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์' ได้ อันดับที่ 2 ได้คะแนน 215,694 คะแนน โดยพ่ายไปเพียง 6,000 กว่าคะแนนเท่านั้น

เป็นที่รับรู้กันว่า 'เอกภาพ พลซื่อ' ชนะศึกนายก อบจ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2563 ได้ด้วยฐานเสียงที่มี 'อนุรักษ์ จุรีมาศ' ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลัง

โดยตระกูล 'พลซื่อ' ในอดีตนั้นฐานการเมืองมีความใกล้ชิดกับ 'พินิจ จารุสมบัติ' ตั้งแต่ 'เอกภาพ' นั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคเสรีธรรม

เมื่อ 'เอกภาพ' พ้นการถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก็ยังมีตัวตายตัวแทนคือ 'นพดล พลซื่อ' เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ด สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน

ต่อมา 'เอกภาพ' สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา กระทั่งปี 2562 เข้าสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่ง รัชนี พลซื่อ ลง ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 2 ได้ 21,701 คะแนน แต่พ่ายแพ้ให้กับ ฉลาด ขามช่วง จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกตั้ง 47,826 คะแนน

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้ตัดสิทธิทางการเมือง เอกภาพ ตามที่ กกต.ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 4 ข้อกล่าวหา คือ 1. กรณีปราศรัยในการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งล่าสุด กล่าวหาว่าในการนับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2555 เกิดไฟดับ 2 ชั่วโมง ทำให้คะแนนของ รัชนี พลซื่อ ภรรยา ซึ่งเป็นผู้สมัครนายก อบจ.ในขณะนั้นพลาดเป็นนายก อบจ.ปี 2555

2.เรื่องทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสิน 410 ล้านบาท

3.การซื้อเครื่องบินทำฝนเทียม และ 4.เรื่องการสร้างอาคารห้องน้ำโรงเรียนกีฬา จ.ร้อยเอ็ด

โดยศาลพิพากษายกฟ้อง 3 ข้อหา ส่วนอีก 1 ข้อหา กรณีไฟดับ ศาลได้พิพากษาตัดสินให้ตัดตัดสิทธิทางการเมือง เอกภาพ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายการเลือกตั้งให้ กกต.เบื้องต้น 34 ล้านบาท

คุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยเอ็ด หาเสียง อบจ.คุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยเอ็ด หาเสียง อบจ.

(ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ปี 2563 ครั้งก่อน 'มังกร ยนต์ตระกูล' พ่ายให้กับ 'เอกภาพ พลซื่อ' )

ผลใบแดง 'เอกภาพ' ได้เกิดการเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2565 กระแส 'เพื่อไทย' ฟีเวอร์ แบบถล่มทลาย 'แลนด์สไลด์' จึงเกิดขึ้น

เป็นการถล่มทลายหลังจาก 'แพทองธาร ชินวัตร' ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำคณะบุกปราศรัย 4 อำเภอของ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ย. 2565

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศึกการเลือกตั้งซ่อม ครั้งนี้ 'เพื่อไทย' ต้องเดินเกมใช้ 'แบรนด์พรรค' เพื่่อหวังสร้างแรงสะเทือนไปถึงสมรภูมิการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 'ลุง' 3 ป.

เวทีนายก อบจ.ร้อยเอ็ด 'เพื่อไทย' จึงเดิมพันส่ง 'เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์' ทวงคืนเก้าอี้นายก อบจ.ร้อยเอ็ด แม้กระแสช่วงแรกจะดูเป็นรอง เพราะเป็นการเปิดตัวผู้สมัครภายหลัง 'รัชนี พลซื่อ' และ 'จุรีพร สินธุไพร'

'เพื่อไทย'จึงต้องต่อสู้กับคู่แข่งจากสองปีกที่ลงในนามอิสระ ที่อยู่ในปีกรัฐบาล

เมื่อปีกหนึ่งคือ 'รัชนี พลซื่อ' ที่มี 'เอกภาพ พลซื่อ' - 'อนุรักษ์ จุรีมาศ' หนุนหลัง

ขณะที่อีกปีกหนึ่งเป็นขั้วของ 'จุรีพร สินธุไพร' น้องสาวของ 'นิสิต สินธุไพร' ที่หันไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562

ฐานเสียงเดิมของ ตระกูล 'พลซื่อ' หนาแน่นใน ร้อยเอ็ด โซนเหนือ อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ อ.หนองพอก อ.เมยวดี และยังได้เสียงในเขต อ.เมือง จากตระกูล 'จุรีมาศ' สนับสนุน

ขณะที่ 'จุรีพร' หวังใช้ฐานเสียงตระกูลคนเสื้อแดง 'สินธุไพร' ใน อ.พนมไพร เพื่อดึงคะแนนจากฝ่ายประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาชนะ 'เพื่อไทยแลนด์สไลด์' ได้

เสมือน 'เศกสิทธิ์' ถูกคู่แข่ง 2 เข้ารุมในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ทว่า 'เพื่อไทย' เลือกใช้กระแส 'แลนด์สไลด์' จากการเลือกตั้ง นายก อบจ.กาฬสินธุ์ ผนวกกับภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่อย่าง 'แพทองธาร' ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลงเจาะเดินสายปราศรัยช่วย 'เศกสิทธิ์' ในโค้งสุดท้าย ที่สุดไม่พลาดเป้า เอา 'เศกสิทธิ์' คว้าชัยนอนมาตั้งแต่นับคะแนนช่วงแรกหลังปิดหีบเลือกตั้ง

แพทองธาร เศกสิทธิ์ เพื่อไทย ร้อยเอ็ด B301B4044.jpegแพทองธาร เศกสิทธิ์ ร้อยเอ็ด -0CD4-4745-9652-A976B90968BA.jpeg

“ระหว่างเดินทางมาพ่อใหญ่ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) โทรมาหาดิฉัน ให้บอกกับพี่น้องร้อยเอ็ดว่า คิดถึงมาก” แพทองธาร กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งต่อหน้าพี่น้อง 'ร้อยเอ็ด' เรียกคะแนนเสียงขอแลนด์สไลด์เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

การปราศรัยของตัวแทน 'ทักษิณ' ที่เป็นดีเอ็นเอสายเลือดแท้ ยังตอกย้ำว่า 'เศกสิทธิ์' คือคนของ 'เพื่อไทย' อย่าแบ่งใจให้ใครต้อง 'กาเพื่อไทย' ใน 'ร้อยเอ็ด' เท่านั้น

ปรากฏการณ์ 'ร้อยเอ็ดแลนด์สไลด์' - 'เพื่อไทย' - 'เศกสิทธิ์' กวาดเรียบยก 19 อำเภอ จึงเกิดขึ้น 301,188 คะแนน แต่เสียแต้มเป็นรองให้กับ 'รัชนี พลซื่อ' ใน อ.เมยวดี เท่านั้น

เศกสิทธิ์ 6060_972243869125676159_n.jpg

โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว 'จิราพร สินธุไพร' ส.ส.ร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ 5 กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ อ.พนมไพร, อ.หนองฮี, อ.โพนทราย และ อ.อาจสามารถ (ยกเว้นตำบลโพนเมืองและตำบลบ้านแจ้ง) ระบุผ่าน 'วอยซ์'ว่า การเลือกตั้งครั้งก่อนที่ 'มังกร ยนต์ตระกูล' พ่ายแพ้ให้กับ 'เอกภาพ พลซื่อ' เพราะคราวก่อน 'เพื่อไทย' ไม่ได้ลงช่วยปราศรัยแบบเต็มทีม อีกทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นในขณะนั้นก็ไม่ได้อิงกับนโยบายใหญ่ของพรรคการเมือง ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ.ร้อยเอ็ด ครั้งล่าสุด พรรคเพื่อไทย จึงส่ง เศกสิทธิ์ ลงในนามพรรค และทีมงานของพรรคก็จะช่วยปราศรัยเป็นทีมใหญ่ แบบ 100%

จิราพร ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้คู่แข่งต้องพ่ายแพ้ต่อกระแส 'เพื่อไทยแลนด์สไลด์' จ.ร้อยเอ็ด เป็นเพราะขาลงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประชาชนเลือกใช้สนามท้องถิ่น อย่าง นายก อบจ.ร้อยเอ็ด เป็นการออกเสียงลงคะแนนเพื่อส่งสัญญาณว่า คนร้อยเอ็ด ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และต้องการพรรคเพื่อไทยเข้ามาเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง จ.ร้อยเอ็ด ก็เป็นพื้นที่ประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะเคยโหวตประชามติไม่รับร่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ ฉบับปี 2560 สูงเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ของประเทศ

"รอบนี้พรรคเพื่อไทยส่งคุณเศกสิทธิ์ลงในนามพรรคเต็มรูปแบบ ถึงขนาดประชาชนใน จ.ร้อยเอ็ด บางคนก็บอกว่า จำชื่อผู้สมัครไม่ได้ แต่ขอลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย เบอร์ 2 แสดงให้เห็นว่าแม้ พรรคเพื่อไทยจะเพิ่งเปิดตัวคุณเศกสิทธิ์ก่อนสมัครรับเลือกตั้งไม่กี่วัน แต่แบรนด์ของพรรคเพื่อไทยยังแข็งแรง" จิราพร ระบุ

เศกสิทธิ์ ร้อยเอ็ด จิราพร ชญาภา -17B4-45D8-873D-29BF34A77B2C.jpeg

เมื่อคนร้อยเอ็ดส่งสัญญาณแลนด์สไลด์ ในศึกนายก อบจ.ร้อยเอ็ด รอบนี้

การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 'พรรคเพื่อไทย' ก็ยังคงหมายมั่นว่าจะกวาด ส.ส.ให้ยกจังหวัด 8 เขต ให้ซ้ำรอยแบบปี 2554 อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง