วันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ (ปลดล็อกท้องถิ่น) ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ โดยได้มีสมาชิกฯ ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น.
โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้อภิปรายสนับสนุนร่างฯ ดังกล่าว เช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ที่ระบุว่า ข้อเสนอต่างๆ ในร่างฯ นี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แต่ตนรู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้ยินสมาชิกฯ หลายท่าน อภิปรายดูถูกประชาชนว่ายังไม่ตื่นรู้ ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้
"คนที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ คือคนที่ยังกินภาษีอากรของประชาชน ส่วนประชาชนนั้นเขาพึ่งตัวเองได้ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาชิกฯ จากฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสภาส่วนใหญ่กลับแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างฯ พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมา
ส.ว.ค้านแก้ รธน. ชี้ทำไทยเป็น 'รัฐอิสระ'
ในช่วงหนึ่ง เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ร่างฯ ที่ผู้เสนอมา แม้จะอธิบายว่ายังเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่ดูเนื้อหาแล้ว ตนกังวลว่า คือรัฐอิสระดีๆ นี่เอง ปัญหาที่จะให้บ้านเมืองดีขึ้น ความจริงอยู่ที่นักการเมือง มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประชาชนมากน้อยแค่ไหน หากบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในชุมชน ในบ้านเมือง ในประเทศ ก็ต้องรักษาประโยชน์ส่วนร่วม ไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลูกฝังความคิดผิดๆ ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน
เสรี กล่าวว่า เมื่อดูตามมาตราสุดท้าย จะยกเลิกกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้น ตนอยากเห็นประเทศเป็นรัฐเดียว ไม่อยากเป็นรัฐอิสระ เพราะฉะนั้นในเนื้อหาที่เสนอทั้งหมด ยังรับหลักการเรื่องเหล่านี้ไม่ได้
“ส่วนตัวไม่ได้รังเกียจผู้เสนอ ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เพียงแต่ระแวดระวังพฤติกรรม การแสดงออกช่วงที่ผ่านมา เลยผสมผสานกันว่า ข้อเสนอจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับพี่น้องทั้งประเทศ ผมให้ความสำคัญประชาชนที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไข แต่ในข้อเสนอที่เสนอมา ต้องเรียนเลยว่า โดยรวมๆ ไม่มีการกระจายอำนาจที่จะสำเร็จได้อย่างแท้จริง จึงไม่อาจรับหลักการในร่างฉบับนี้ได้” เสรี กล่าว
’ปิยบุตร’ ฟาด ส.ว.เรียงคน อย่าหาว่าสอนหนังสือสังฆราช
ต่อมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เสนอร่างฯ ลุกชี้แจงทีละประเด็น กรณีที่ จเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า ร่างฯ ในลักษณะนี้น่าจะสุ่มเสี่ยงเรื่องกระบวนการ เพราะไม่มีการจัดทำความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ตนขอชี้แจงว่ามีรายงานความคิดเห็นชัดเจน ไม่รู้จะชัดอย่างไรแล้ว
“อย่าหาว่าสอนหนังสือสังฆราช รายงานฉบับนี้จะแจกสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน และเขียนไว้ชัดเจนว่ารายงานแสดงความคิดเห็น ทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผมไม่เดือดร้อนเพราะเป็นเพียงผู้ชี้แจง แต่เจ้าหน้าที่สภาฯ มีความกังวลก็เป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ และทำถูกต้องตามระเบียบ” ปิยบุตร กล่าว
ปิยบุตร ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่มีการยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ใน พ.ร.บ.การปกครองท้องที่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่ภูมิภาค โดยคำว่าภูมิภาคไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ หากร่างดังกล่าวถูกผลักดันขึ้นจริง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอาจจะมีสวัสดิการดีขึ้นด้วยซ้ำ อาจจะมีความสุขมากกว่านี้
ส่วนข้อกังวลว่าหากยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจะกระทบกับความเป็นรัฐเดี่ยว ของ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. นั้น ปิยบุตร ระบุว่า ความเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐไม่ได้สัมพันธ์ยึดโยงกับราชการส่วนภูมิภาค ยกตัวอย่าง อังกฤษ และญี่ปุ่น ที่มีรัฐเดี่ยวแต่ไม่มีภูมิภาค
โดนตัดสิทธิ แต่ยังเป็นพลเมือง
ปิยบุตร ระบุว่า ส่วนที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ชี้แจงว่า ผู้เสนอร่างฯ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้ามาสภาได้อย่างไร ปิยบุตร ชี้แจงว่า เพียงแค่มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถเข้ามานำเสนอได้ ตนโดนแค่สิทธิทางการเมือง แต่ยังมีสิทธิในพลเมืองไทย หวังว่าครั้งหน้าหากตนนำเสนอประเด็นอะไรอีก จะไม่มีคำถามลักษณะนี้แล้ว
“ผมโดนเพิกถอนสิทธิต่างๆ เฉพาะแค่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เฉพาะแค่เรื่องสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่น รัฐมนตรี แต่ผมยังมีสิทธิในการเป็นพลเมืองไทยเต็มร้อย ยังมีสิทธิในการรักชาติรักบ้านเมือง ในการเสนอต่างๆ มีสิทธิในการแสดงอภิปรายความคิดเห็น เพราะผมเป็นคนพลเมืองไทย ผมไม่ได้โดนตัดสิทธิความเป็นคน แม้ท่านอยากให้ผมอยากออกจากพลเมืองไทยก็ตาม” ปิยบุตร กล่าว
“ถ้าไม่ให้มาหาเสียงกับประชาชน จะให้ไปหา คสช.เหรอครับ”