วันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ในรอบ 8 ปี โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากทม. กล่าวว่า การขออนุญาตถ่ายทอดสดให้ประชาชนสามารถรับชมร่วมกันเป็นครั้งแรก รวมทั้งไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในการอภิปรายทั้งคดีแพ่ง และอาญา จึงขอให้ส.ก. และผู้ร่วมประชุม อภิปรายอย่างระมัดระวัง
ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมสภากทม. จะมีการหารือเรื่องการนำการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) กลับมาอีกครั้งเพื่อให้มาทำหน้าที่ร่วมกับ ส.ก. เพื่อแบ่งเบาภาระงาน โดยการเลือกตั้ง ส.ข. มีการจัดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557
ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้จะยังไม่มีการบรรจุเรื่องเข้าวาระการประชุมแต่ถ้าหากสภากทม.มีข้อซักถาม ก็พร้อมที่จะตอบ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณา และแก้ปัญหาหนี้สินที่ผูกผันเกี่ยวกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า
ส่วนประเด็นการตรวจสอบผู้อำนวยการเขตลาดกระบังที่ตั้งแต่วานนี้ (5 ก.ค.) มีตัวแทนชุมชนในเขตลาดกระบังมาร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้อำนวยการเขต หลังจากมีกระแสข่าวว่าเกิดการทุจริต และผอ.คนดังกล่าวได้มีการยื่นใบลาออกไปแล้ว
ชัชชาติ กล่าวว่า อย่านำมวลชนมากดดันกระบวนการทำงานจนผิดสังเกต เรื่องนี้หากไม่มีมูลความจริงก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการต่อไป สำหรับเรื่องหนังสือลาออก ของผอ.เขต คนดังกล่าวนั้น หากยื่นมาจริง คาดว่าเอกสารจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขอยืนยันว่าจนขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดใดๆ
สภา กทม. ดันผู้ว่าฯ ชงเลือกตั้ง 'ส.ข.'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดย วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากทม. ได้กล่าวนำสมาชิกที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลรับรอง 5 เขต หลังมีการตรวจสอบทุจริต ได้แก่
-พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล
-ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง พรรคเพื่อไทย
-อนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง พรรคพลังประชารัฐ
-รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย
-อนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง พรรคเพื่อไทย
จากนั้นประชุมได้พิจาณาญัตติของ ส.ก.ในเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) โดย นภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า สมาชิกทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ปัจจุบันผ่านมา 8 ปีแล้ว ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ไปที่ส.ข.เลย แม้ว่าครั้งหนึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เคยมีการยื่นให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.โดยเร็ว และชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า สมควรมีการเลือกตั้งส.ข. เพราะเป็นการกระจายอำนาจให้พี่น้องประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนด และสะท้อนปัญหามาสู่กทม. แต่จนแล้วจนรอดคณะรัฐมนตรี (ครม).ไม่รับเข้าพิจารณา
นภาพล กล่าวว่า แนวความคิดของคณะรัฐมนตรีไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ข. แต่ผู้อำนวยการเขตมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมเขตแทน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนโดยตรง และไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ผิดกับส.ข.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
นภาพล เสริมว่า การที่ภาครัฐ ไม่มีการเลือกตั้งส.ข. เป็นการทำให้พี่น้องชาว กทม. ขาดโอกาสได้เลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่น ขาดโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะร่วมพัฒนา และนำปัญหามาสู่กทม. โดยตรง และขาดอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นการรับอำนาจของพี่น้องประชาชนในแต่ละเขต
โดยเสนอให้ ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะช่วยเสนอถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ปรับแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 เพื่อให้ ส.ข.ที่พี่น้องประชาชนเลือกกลับคืนมา และช่วยเหลือธุระ เพื่อการกระจายอำนาจใน กทม.จะได้สมบูรณ์
ด้าน สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตหนองจอก พรรคเพื่อไทย อภิปรายเห็นด้วยกับการที่ ส.ข.ควรจะต้องมี เพราะตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ส.ข.ไม่ได้ยกเลิก แต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ที่สำคัญคือ จนกว่าจะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จเรียบร้อย แต่ไม่ทราบว่าทำแผนเสร็จกันหรือยัง อยากฝากไปเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจสูงสุด
สุทธิชัย กล่าวว่า กทม.เป็นการปกครองแบบพิเศษที่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อก่อนมีส.ข. แต่โดนยึดอำนาจไป และไม่คิดฝันว่า วันนี้จะได้กลับเข้ามาในรอบ 8 ปี แต่ ส.ข. กลับไม่มีใครพูดถึงเลย ไปไหนพี่น้องประชาชนถามหาแต่ส.ข. ว่าเมื่อไหร่จะเลือกตั้ง
สุทธิชัย กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมา ส.ก. ไม่มี ส.ข. ก็ไม่มี ชาวบ้านจะพึ่งใคร นี่คือสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง อยากฝากประธานไปถึงผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศให้ดูเรื่องนี้ เพราะขั้นตอนไม่ได้เสร็จที่สภาฯ หรือผู้ว่าฯ แต่แล้วเสร็จที่คณะรัฐมนตรี
"ให้โอกาสพี่น้องประชาชนมาเลือกตัวแทนของเขาในระดับที่เขาจะพึ่งพาได้ และคนที่ออกกฎหมายท้องถิ่น ไม่รู้ทำไมถึงตัด ส.ข. ทิ้งทำให้ประชาชนอ่อนเบี้ย เพลียแรง" สุทธิชัย กล่าว
ขณะที่ พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล เสนอว่า ควรมีการศึกษาว่า ส.ข. ทำหน้าที่อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ปัญหาของการไม่ชัดเจนของตำแหน่ง ส.ข. หากจะแก้ก็ควรจะมีการศึกษา หรือพูดคุยกันว่าประชุมแล้วได้อะไรบ้าง ไม่ใช่ประชุมเดือนละครั้งแล้วไม่มีอะไร เพราะส.ข.ทั้ง 50 เขต ใช้งบประมาณจำนวนมากในแต่ละเดือน ขอให้ได้ประโยชน์สูงสุด
'ชัชชาติ'รับข้อเสนอสภากทม.แก้กฎหมายคืนเลือกตั้ง 'ส.ข.' ดึงร่างกฎหมายมาแก้ไขใหม่
ต่อมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังมีการประชุมกับสภา กทม. ว่า ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. นั้น ก็ได้รับทราบในส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งในที่ประชุม สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) ส่วนใหญ่อยากให้มีตัวแทนประชาชนในระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน
ชัชชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ของกรุงเทพมหานคร สมัยที่แล้วที่ได้นำส่งไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังอยู่ในชั้นพิจารณา โดยใจความสำคัญของร่างนั้นคือการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. ขณะที่ ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งในวาระนี้ต้องการให้นำระบบ ส.ข.กลับคืนมา ซึ่งตามที่ได้รับทราบก็สามารถดึงกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมได้ และในส่วนของหลักการนั้น ชัชชาติ ให้ความเห็นว่า ต้องคุยกับ ส.ก. เป็นหลัก ยิ่งมีตัวแทนประชาชนเยอะยิ่งดี
ส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่า หาก กทม. มี ส.ข. เข้ามาร่วมทำงานจะเป็นการกระจายอำนาจโดยตรง คนที่มาจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่การถูกเลือกขึ้นมารับตำแหน่ง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ชุดดังกล่าวที่ส่งไปที่ประชุมครม. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากทม.ชุดนี้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงประเด็นเรื่องหนูที่ชุมชนแฟลตดินแดง 5 ที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์นั้น ชัชชาติ กล่าวว่า รับทราบปัญหาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ลงพื้นที่พบประชาชนตามเขต มองว่าสิ่งสำคัญคือเรื่องการจัดการขยะในที่พักมีปัญหา จึงเป็นแหล่งสะสมขยะ และเชื้อโรค เป็นแหล่งอาหาร ของหนู และสัตว์อื่นๆมารวมตัวกัน เบื้องต้นนั้นทางกทม. จะร่วมหารือกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อวางระบบจัดการขยะในที่พัก อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนูในเมืองกรุง
รองโฆษกสภากทม. เผยลงมติงบฯ -ตั้งกมธ.7 ก.ค.
เวลา 14.00 น. ท่ี่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองโฆษกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) แถลงสรุปประเด็นการประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม
ภัทราภรณ์ กล่าวว่า การประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีสาระสำคัญได้แก่ ญัตติของ นภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 ให้พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งมติที่ประชุมให้ความเห็นชอบ
ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญคือ การขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยน และถกเถียงถึงความสำคัญของการมี ส.ข. ซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว
ส่วนการประชุมในช่วงเวลา 13.00 น. หลังการพักการประชุม เป็นการอภิปรายในส่วนร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. .... โดยการเสนอประเด็นต่างๆ นั้น ก็ยังคงอยู่ในช่วงการแลกเปลี่ยนหารือของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ภัทราภรณ์ เสริมว่า การอภิปราย และประชุมหารือในสภากรุงเทพมหานครจะมีทั้งหมด 2 วัน คือวันนี้ (6 ก.ค.) และในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) สำหรับวันนี้คาดว่าจะประชุมแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 21.00 น.
ส่วนในวันพรุ่งนี้(7 ก.ค. 65) จะมีการลงมติเรื่องงบประมาณฯ และจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณฯ ปี 2566 โดยจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดอีกที และในวันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้ทดลองระบบถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ได้เน้นย้ำสมาชิกให้มีการระมัดระวังในการอภิปราย เพราะยังไม่มีการคุ้มครองเอกสิทธิ์
ภัทราภรณ์ เน้นย้ำว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์นั้น คงต้องศึกษารายละเอียดต่อไป ส่วนภาพของการแบ่งเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายสนับสนุนนั้น คงไม่ปรากฏให้เห็นในสภากรุงเทพมหานคร เพราะเป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อพี่น้องประชาชน