ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิกระจกเงา เปิดสถิติเด็กหายปี 2560 ยังน่าเป็นห่วง พบสาเหตุหลักกว่า 84% เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งเก็บข้อมูลดีเอ็นเอเด็กไว้ในฐานข้อมูล และนำหลักสากลเข้ามาใช้ในการสเก็ตช์ภาพเด็ก

วันที่ 11 ม.ค. 61 มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร จัดแถลงข่าวสถานการณ์เด็กหายประจำปี 2560 โดยนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่าสถิติรับแจ้งเด็กหายปี 2560 มีจำนวน 422 ราย สาเหตุหลัก 84% คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี โดยเด็กหญิงจะหายออกจากบ้านมากกว่าเด็กชายเกือบ 3 เท่า ขณะเดียวกันพบว่าเด็กที่หายออกจากบ้านมีปมปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ด่าทอ และห้ามเด็กทำสิ่งต่างๆ โดยไม่อธิบายเหตุผล นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่หายออกจากบ้านมีแนวโน้มถูกชักชวนไปอยู่กับแฟนหรือคนที่รู้จักในโลกออนไลน์ และมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือป้องกันไม่ถูกวิธี

นายเอกลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เด็กหายพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งเด็กหายลดลงทุกปี แต่ยังถือว่ามีความรุนแรง เนื่องจากแต่ละปี มีเด็กหายออกจากบ้านเกินกว่า 400 คน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุดคือวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-15 ปี

ด้าน พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกูร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืน สถาบันนิติเวชวิทยา กล่าวว่า สถาบันนิติเวชวิทยา ได้ทำโครงการศูนย์กลางข้อมูลสารพันธุกรรม(เด็ก)ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งปัจจุบันยังคงทำอยู่ มีการเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมเด็กไว้ในฐานข้อมูลราว 1,292 คน และฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 1 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือว่าเป็นหน่วยงานแรกในไทยที่ใช้กระบวนการสร้างภาพสเก็ตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน โดยใช้หลักสากลคือ เด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังหาไม่พบ จะทำการสเก็ตช์ภาพเพิ่มอายุทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะสเก็ตช์ทุก 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลง และที่ผ่านมากองทะเบียนฯได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯทำภาพสเก็ตช์มาแล้ว 7 ภาพ

ขณะที่ พ.ต.อ. ชัยวัฒนะ บูรณะ ผู้กำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร แนะนำว่าผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว รับรู้ข้อมูลเด็กต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ง่ายและรวดเร็ว อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรือตามลำพัง พร้อมแนะนำให้ฝึกให้เด็กรู้จักวิธีของคนร้ายที่ใช้ล่อลวงเด็กให้มีทักษะการสังเกตจดจำเบื้องต้น