สื่อหลายแห่งรายงานว่าปี 2017 เป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การกาชาดสากลที่ระบุว่าการบรรเทาสาธารณภัยในหลายประเทศทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤต เพราะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาล ส่วนปี 2018 สื่อต่างชาติอย่างเดอะการ์เดียนและกัลฟ์นิวส์ระบุว่าน่าจะเป็น 'ปีแห่งการเลือกตั้ง' เพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปี มีกำหนดจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นแทบทุกเดือน
เดือนมกราคมมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ฟินแลนด์ ตามด้วยคิวบา วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ส่วน 18 มีนาคมเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ขณะที่เดือนพฤษภาคมมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในอังกฤษ, 15 พฤษภาคม มีการเลือกตั้งทั่วไปที่อิรัก และอียิปต์จะเลือกตั้งประธานาธิบดีภายในเดือน พ.ค.เช่นกัน แต่ยังไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจน
ส่วนเดือนมิถุนายนมีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกาหลีใต้ และเซาท์ซูดานจะจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 9 กรกฎาคม ส่วนปากีสถานเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในวันที่ 15 กรกฎาคม ตามด้วยการเลือกตั้งที่สวีเดนในวันที่ 9 กันยายน ส่วนวันที่ 28 ตุลาคม เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล และ 6 พฤศจิกายน เป็นการเลือกตั้ง ส.ว.สหรัฐฯ
การเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกี่ประเทศกันแน่?
ด้านสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้อย่างแน่นอน ได้แก่ (1) กัมพูชา มีกำหนดเลือกตั้งทั่วประเทศในเดือนกรกฏาคม ซึ่งได้รับการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เปิดให้องค์กรระหว่างประเทศด้านสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบหรือเก็บข้อมูล ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าการเลือกตั้งกัมพูชาอาจไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีอิสระเสรีและเป็นธรรม เพราะมีการจับกุมสมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ และศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ยุบพรรคดังกล่าวด้วย
ประเทศที่ (2) คือ มาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลต้องประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนภายในวันที่ 24 สิงหาคม ขณะที่นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า พรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) จะต้องชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน ทำให้เชื่อได้ว่าปีนี้มาเลเซียจะมีการเลือกตั้ง แม้ว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา นายนาจิบและเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหลายรายจะถูกกล่าวหาว่าพัวพันในคดีฟอกเงินและทุจริต จนทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายครั้งก็ตาม และประเทศที่ (3) คือ อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน และเป็นการอุ่นเครื่องทางการเมืองก่อนจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน 2019
ส่วนกรณีของไทย มีแนวโน้มว่า "อาจจะมีการเลือกตั้ง" แต่ไม่สามารถแน่ใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยโจชัว เคอร์แลนซิก นักวิชาการที่ศึกษาด้านเอเชีย อ้างถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้นานาประเทศรับฟังว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน แต่กลับให้สัมภาษณ์สื่อภายในประเทศว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ หากประเทศยังมีความขัดแย้งกันอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าไทยจะได้เลือกตั้งในปีนี้จริงหรือไม่
เลือกตั้งชาติมหาอำนาจ ชี้วัดความนิยมรัฐบาล
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะจัดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่านายวลาดิเมียร์ ปูติน จะได้รับชัยชนะและกลับมาดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 4 แม้จะมีกระแสต่อต้านนายปูตินเพิ่มขึ้น แต่คะแนนนิยมของรัฐบาลยังไม่ลดลงมากนัก ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม มีผู้ประเมินว่าถ้าหากพรรครัฐบาลของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่สามารถเอาชนะพรรคคู่แข่งด้วยคะแนนทิ้งห่างได้ อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายและการดำเนินการให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิท ซึ่งรัฐบาลของนางเมย์ต้องเป็นผู้ผลักดันให้เกิดข้อตกลงที่ชัดเจนในปีนี้ ส่วนปีที่แล้ว นางเมย์ประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่กลับไม่ได้รับชัยชนะถล่มทลายอย่างที่คาดไว้
นอกจากนี้ วันที่ 6 พฤศจิกายน เป็นวันที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นกำหนดเลือกตั้ง ส.ว.สหรัฐฯ และจะเป็นเครื่องชี้วัดคะแนนนิยมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และพรรครัฐบาลรีพับลิกัน หลังจากนายทรัมป์กลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อในประเทศและสื่อต่างประเทศ รวมถึงผู้นำต่างชาติคนอื่นๆ เพราะนโยบายหลายด้านส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก เช่น การถอนตัวจากความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน การออกคำสั่งห้ามพลเมืองจากประเทศมุสลิมเดินทางไปยังสหรัฐฯ และการปฏิรูประบบภาษีซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวยมากกว่าคนจน
หากประชาชนอเมริกันที่ไม่พอใจทรัมป์และพรรครีพับลิกันลงคะแนนให้กับผู้สมัครอิสระหรือสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตมากขึ้นในการเลือกตั้งปลายปีนี้ ก็อาจจะส่งผลให้การพิจารณากฎหมายหรือการบริหารประเทศของนายทรัมป์ต้องเจอกับแรงต่อต้านมากขึ้น
จับตาสถานการณ์ความมั่นคงและการทหาร
สื่อต่างประเทศรายงานว่าเหตุการณ์สำคัญทางสังคมและการเมืองโลกอื่นๆ ที่น่าสนใจในปีหน้าจะรวมถึงการตัดสินใจของนายทรัมป์และรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะพิจารณายกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ 5+1 ระหว่างอิหร่านและ 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) หรือไม่ หลังจากที่นายทรัมป์เคยประกาศเอาไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่าข้อตกลงจะต้องเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลงานที่ล้มเหลวของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งทำให้อิหร่านได้รับประโยชน์มากกว่าสหรัฐฯ ทั้งที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าอิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์จริงหรือไม่ และนายทรัมป์ยังกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย จึงต้องยกเลิกเงื่อนไขผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอิหร่านตามข้อตกลงเดิม และจะพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมด้วย
ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ที่เขตพย็องชัง เมืองคังวอนในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เสนอให้นักกีฬาเกาหลีเหนือเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงเปิดทางไปสู่การเจรจาต่อรองยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่บรรยากาศในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์หลายครั้งในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกา เพราะไทยและสหรัฐฯ เห็นชอบตรงกันให้เชิญกองทัพเมียนมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมรบคอบราโกลด์ประจำปี 2018 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานระหว่างกองทัพของไทยและสหรัฐฯ
อ่านเพิ่มเติม:
เพื่อไทยวอนรัฐบาลตอบให้ชัดเจนเลือกตั้งวันไหน
'ประยุทธ์' คอนเฟิร์ม 'ทรัมป์' ปีหน้าไทยประกาศเลือกตั้ง
สื่อต่างชาติประเมินอนาคตไทย หากมีการเลือกตั้งปีหน้าก็ยังไม่พ้นเงากองทัพ