ไม่พบผลการค้นหา
แม้ประเทศไทยจะติด 1 ใน 10 ประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้คะแนนว่าอยากมาเยือนที่สุดในโลก แต่ถ้ามองในแง่การลงทุนแล้ว เสน่ห์ของประเทศไทยกลับลดลงเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย

รายงานของซูริ เรน (Shuli Ren) จาก บลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้ไทยจะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว แต่ไทยไม่ใช่สวรรค์ของนักลงทุน เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือน พ.ย. นี้ นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยแล้ว 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2.86 แสนล้านบาท และน่าจะมากที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้

แต่การดัชนีหุ้นไทยพุ่งขึ้นทำสถิติในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ จากเงินลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ และช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะเป็นสวรรค์ของนักลงทุน เมื่อเปรียบกับตลาดเกิดใหม่ต่างๆ เนื่องจากเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเพียงร้อยละ 1.3 จากรายได้การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ ดัชนีเอ็มเอสซีไอ ไทยแลนด์ (MSCI Thailand Index) มีผลตอบแทนติดลบเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งนับว่า มีผลการดำเนินดีกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกันที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 10

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในขณะนี้มีความคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาระในการดูแลประชากรสูงวัย ซึ่งปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุต่ำกว่า 30 ปี สัดส่วนร้อยละ 38 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนับว่าต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีสัดส่วนประชากรกลุ่มนี้ร้อยละ 50 ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ เพิ่งไต่ระดับทำสถิติสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี

หรือในแง่การลงทุนด้านดิจิทัลจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชันด้านการขนส่งอย่าง 'แกร็บ' หรือ เครือข่ายการบริการทางอินเทอร์เน็ตอย่าง 'โอวายโอ' (OYO) ที่ทุ่มเงินลงทุนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอินโดนีเซีย แต่ธุรกิจเหล่านี้กลับคิดถึงประเทศไทยที่หลังด้วยซ้ำ ประกอบกับในรายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 3/2561 ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (19 พ.ย. 2561) กลับเติบโตเพียงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับว่าอ่อนแอที่สุดในรอบ 2 ปี และยังหลุดจากการประเมินของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกสำนักตามการสำรวจของบลูมเบิร์กด้วย

และแทบจะไม่เหลียวแลไทยเลย ล่าสุดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งถือว่าอ่อนแอที่สุดตั้งแต่ปี 2559 และยังหลุดจากการประเมินของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกสำนักตามการสำรวจของบลูมเบิร์กด้วย

ดังนั้น แม้ต่างชาติจะชื่นชอบการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ถ้าต้องเลือกลงทุน ต่างชาติเหล่านี้ก็จะหันไปลงทุนด้านการผลิตที่เวียดนาม หรือบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในอินโดนีเซียมากกว่า

รายได้ท่องเที่ยวมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของจีดีพี แต่เอฟดีไอมีน้อยนิด

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่มีเกือบร้อยละ 12 ของจีดีพี ซึ่งนับว่ามีอัตราส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับพบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่เข้ามาประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 1.8 ซึ่งน้อยนิดมาก และเกือบ 20 ปีที่ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องประสบกับทศวรรษที่สูญหายจากการลงทุนในประเทศไทย เมื่อเทียบการลงทุนหุ้นในตลาดอินโดนีเซีย ตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม TIPs (Thailand Indonesia Philippines) ที่สามารถทำสถิติใหม่ได้ทุก 2-3 ปี

นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของจีดีพี และสัดส่วนรายได้จากการลงทุนของชาวต่างชาติที่ร้อยละ 3.0 ส่วนฟิลิปปินส์มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ร้อยละ 1.8 แต่มีสัดส่วนรายได้จากการลงทุนของต่างชาติถึงร้อยละ 3.2 ส่วนเวียดนามนั้นมีการลงทุนจากต่างชาติถึงร้อยละ 6.3 ในขณะที่มีการท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 0.5 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นนี้ หากพิจารณา จากรายงานการลงทุนของต่างชาติในอาเซียน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนพบว่า ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และ เวียดนาม) มีเอฟดีไอสูงขึ้นถึงร้อยละ 8 จากปี 2558 มีมูลค่า 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในกลุ่มประเทศ CLMV ในอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 ในปี 2559 จากเดิมร้อยละ 10 ในปี 2558 

ไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

ขณะที่ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังทรงตัวอยู่ได้ในปีนี้ เป็นผลมาจากปริมาณการซื้อกองทุนรวมของนักลงทุนภายในประเทศมีค่อนข้างมาก แต่ถ้าจำนวนสัดส่วนตรงนี้ย้ายไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากต้องรอเก็งกำไรเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

เพราะเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ในระยะใกล้ๆ ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนพบว่าประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตต่างๆ มา ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งจากภัยธรรมชาติอย่างสึนามิ การรัฐประหาร 2 ครั้ง น้ำท่วมใหญ่ และ การประท้วงต่างๆ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีความหวังในเรื่องการเลือกตั้ง แต่บทความของ 'ซูริ เรน' ระบุว่า "ทิศทางและคำตอบนั้นยังคงคลุมเครืออยู่มาก" เพราะความนิยมในพรรคสนับสนุนทหาร อย่าง 'พลังประชารัฐ' กลับมีคะแนนความนิยมในเดือนก.ย. ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 จากการสำรวจเมื่อเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 25.1 ขณะที่ความนิยมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อตั้งโดยนายทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ที่ร้อยละ 28.8 

ดังนั้น สิ่งที่บทความชุดนี้สรุปไว้คือ ในกรณีที่เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงคือ การถอยหลังกลับไปของการเมืองไทย หรือ การชุมนุมทางการเมือง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549 ซึ่ง 'โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป' เตือนว่า จะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2562 แน่นอน

เพราะประเทศไทยเหมาะแค่มาพักร้อนระยะสั้น แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินระยะยาว ก็น่าจะไปหาแหล่งอื่นที่มีเสถียรภาพกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :