ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าต่างประเทศประกาศผลมีผู้เสนอซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของสัตว์และคน ครั้งที่ 1/2561 จำนวน 11 ราย 5.3 แสนตัน ราคาเสนอซื้อเฉลี่ย 3,220 บาท/ตัน ฟาก ธ.ก.ส. เดินหน้ารับจำนำยุ้งฉางเกษตรกร 1 หมื่นราย ชะลอปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาด

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากการที่ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้กรมฯ ในฐานะคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐออกประกาศจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 5.4 แสนตัน จำนวน 80 คลัง ปรากฏว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติผู้เสนอซื้อเบื้องต้นในการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐครั้งนี้ทั้งหมด 15 ราย 

อย่างไรก็ตาม หากปรากฏภายหลังว่าผู้เสนอซื้อรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่ประกาศกำหนดจะถือว่าผู้เสนอซื้อรายนั้นขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น และจะถูกดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศฯ ที่กำหนดไว้ 

สำหรับผลการเปิดซองเสนอซื้อเมื่อบ่ายวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำหรับการเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2561 พบว่ามีผู้สนใจมายื่นซองจำนวน 13 ราย โดยเป็นผู้เสนอซื้อสูงสุด จำนวน 11 ราย ใน 64 คลัง ปริมาณ 5.3 แสนตัน (คิดเป็นร้อยละ 97.60 ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด) มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 1,802 ล้านบาท ซึ่งมีราคาเสนอซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3,220 บาท/ตัน สำหรับชนิดข้าวที่มีผู้เสนอซื้อมากที่สุด คือ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 3 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 56.44 รองลงมา คือ ข้าวเหนียวขาว 10% ปริมาณ 8 หมื่นตัน คิดเป็นร้อยละ 14.51

โดยลำดับต่อไปกรมฯ จะดำเนินการประมวลผลการยื่นซองเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐและคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวก่อนเสนอประธาน นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐ โดยข้าวที่นำออกมาระบายกลุ่มนี้เป็นการจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการ นบข. ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการนำข้าวในสต็อกของรัฐไปใช้ในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยกำชับให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คุมเข้มกำกับดูแลให้ผู้ซื้อนำข้าวในสต็อกของรัฐไปใช้ในอุตสาหกรรมตามหนังสือรับรองตนเองที่แจ้งไว้โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

4 ปี รัฐบาล คสช. ระบายข้าวในสต็อกรัฐแล้ว 16.89 ล้านตัน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศยังกล่าวอีกว่า การระบายข้าวครั้งนี้ ทำให้มีข้าวในสต็อกของรัฐคงเหลือเพียง 2 หมื่นตัน จากข้าวกลุ่ม 2 (ข้าวที่เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน) และกลุ่ม 3 (ข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์) ที่นำออกมาระบายไปก่อนหน้านี้ 

ขณะที่ ข้าวกลุ่ม 1 (ข้าวทั่วไปเพื่อการบริโภค) ปริมาณ 1.43 หมื่นตันที่ระบายไปก่อนนั้น สามารถขายได้หมด ทำให้ข้าวที่อยู่ในสต็อกรัฐบาลที่จะนำออกมาระบายไม่มาก จะยังคงเหลือข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะต้องสรุปตัวเลขว่าจะมีปริมาณหลังระบายล่าสุดเท่าไร เพื่อนำออกมาระบายในครั้งต่อไป ซึ่งจะมีเหลือจากทั้งการส่งมอบ การไม่มารับมอบ ผิดสัญญาหรือแม้กระทั่งติดคดี ซึ่งต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำออกมาระบายได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและดำเนินการระบายข้าว พบว่า สามารถระบายข้าวได้แล้ว 16.89 ล้านตัน มูลค่า 145,909 ล้านบาท จากปริมาณข้าวที่มีการเปิดระบายออกไปภายใต้รัฐบาล คสช. ที่มีจำนวน 17.76 ล้านตัน และได้เริ่มระบายมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 ส่งผลให้ปัจจุบันมีปริมาณข้าวที่ยังคงเหลือรอสรุปตัวเลขไม่มากแล้ว หรือประมาณร้อยละ 5 ของข้าวที่ต้องระบายทั้งหมด

ส่วนการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 มิ.ย. 2561 ส่งออกได้แล้ว 5.19 ล้านตัน เพิ่มร้อยละ 7.51 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 4.83 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2,059 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธ.ก.ส.เปิดรับจำนำยุ้งฉางข้าวนาปี 2561/2562 จากเกษตรกร 1 หมื่นราย

ชาวนา-ข้าว-ปลูกข้าว-เชียงใหม่-ดำข้าว

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลได้มีมาตรการจำนำยุ้งฉาง เพื่อชะลอปริมาณข้าวออกสู่ตลาด 

นายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามนโยบาย นบข. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและสถาบันเกษตรกร 10,000 รายทั่วประเทศ สร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซม ยุ้งฉางของตนเองเพื่อใช้เก็บข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูข้าวนาปี ไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกันมากเกินความต้องการของตลาด 

โดยจัดสรรเงินกู้สำหรับผู้กู้สร้างยุ้งฉางตามโครงการฯ จะต้องเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่สร้างขึ้นและเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปี2561/2562 เพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในฤดูนาปีให้อยู่ในยุ้งฉางชั่วคราว เพื่อช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพ  

ทั้งนี้ ธ.ก.ส จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 150,000 บาท และสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 1,671 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1- 5 ร้อยละ 4 ต่อปี โดยผู้กู้จ่ายร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับปีที่ 6 -10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ธนาคาร 

โดยเริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 และกำหนดให้สร้างยุ้งฉางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 เพื่อให้ทันการเก็บข้าวเปลือกนาปีตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 

"โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบัน เกษตรกรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปีตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง ซึ่งถือเป็นแก้มลิงขนาดเล็กในการเก็บข้าวเปลือกไม่ให้ล้นออกสู่ตลาด โดยเกษตรกรยังได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวด้วย" นายศรายุทธ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :