โฆษกกองทัพซิมบับเว แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล หลังทหารนำกำลังเข้ายึดสถานีและกระจายกำลังทั่วกรุงฮาราเร เมืองหลวง ว่าการกระทำของกองทัพไม่ใช่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายโรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีแน่นอน แต่เป็นการเข้ามาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ คลี่คลายความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งหากทหารไม่เข้ามาแทรกแซง อาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้
กองทัพยืนยันว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการนำตัวบุคคลรอบตัวประธานาธิบดี ซึ่งก่ออาชญากรรมที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมซิมบับเว เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น กองทัพก็จะกลับเข้ากรมกอง และรัฐบาลจะมีอำนาจบริหารประเทศต่อไป โดยยืนยันว่ากองทัพรับรองได้ว่านายมูกาเบและครอบครัว จะได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดี
โฆษกกองทัพซิมบับเวปรากฏตัวในทีวีของรัฐ ประกาศว่าไม่ได้รัฐประหาร หลังกองทัพเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐเมื่อเช้ามืดวันที่ 15 พฤศจิกายน
สำหรับประชาชนทั่วไป กองทัพซิมบับเวขอให้ใช้ชีวิตไปตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ไปทำงาน แต่ให้จำกัดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น ส่วนเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ขอให้ร่วมมือกับกองทัพเพื่อความสงบสุขของส่วนรวม อย่าพยายามต่อต้าน เพราะการขัดขืนจะถูกตอบโต้อย่างสาสม โดยตลอดเช้าที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดอย่างน้อย 3 ครั้ง และมีการยิงปะทะหลายจุดในเมืองหลวง ขณะที่สถานทูตและสถานที่ราชการส่วนใหญ่ปิดทำการ เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์
ประธานาธิบดีอยู่ไหน?
แม้ว่ากองทัพจะยืนยันว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนายมูกาเบและครอบครัว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าประธานาธิบดีหนีไปไหน หรือถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด แต่การที่กองทัพประกาศว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนายมูกาเบและครอบครัว ทำให้เป็นไปได้ว่าเขาอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพแล้ว และยังมีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีการปะทะกันและเสียงปืนดังหลายนัดในบริเวณบ้านพักของนายมูกาเบ ในช่วงเช้าวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา และรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน คือรัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน
การตัดสินว่ากองทัพทำรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการได้ตัวประธานาธิบดีมาไว้ในกำมือนั่นเอง ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุที่กองทัพระบุว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้นายมูกาเบ เนื่องจากเป็นการส่งนัยว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว แต่ไม่ต้องการให้เกิดภาพของการจับกุมควบคุมตัว เพื่อให้สอดคล้องกับข้ออ้างของกองทัพที่ว่า ไม่ได้ "รัฐประหาร"
รัฐประหารหรือไม่?
ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการนำยุทโธปกรณ์เข้ามายังเมืองหลวงของซิมบับเว และมีทหารควบคุมพื้นที่ ประชาชนถูกห้ามเข้าบางส่วนของเมืองที่ใกล้กับสถานที่ราชการสำคัญๆ มีรายงานการปะทะ และเสียงระเบิดเป็นระยะ
สำหรับเหตุผลที่กองทัพซิมบับเวพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่ารัฐประหาร อาจเป็นเพราะทราบดีว่าการรัฐประหารไม่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเกรงว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างชาติ โดยเฉพาะสหภาพแอฟริกา หรือ AU ที่มีบทบาทแข็งขันในการต่อต้านการรัฐประหารในภูมิภาค และเคยทำให้การรัฐประหารในบูร์กินาฟาโซล้มเหลวมาแล้วเมื่อปี 2015
อย่างไรก็ตาม การกระทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการนำทหารเข้าควบคุมเมืองหลวง จับรัฐมนตรี และยึดสถานีโทรทัศน์ ไม่อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่การรัฐประหาร และสิ่งสำคัญที่จะตัดสินว่าสรุปแล้วนี่คือการรัฐประหารหรือไม่ ก็คืออนาคตของรัฐบาลซิมบับเวจากนี้ไป มีสื่อท้องถิ่นหลายสำนักรายงานว่านายเอ็มเมอร์สัน นังกากวา ผู้ที่เพิ่งถูกปลดจากรองประธานาธิบดี เดินทางเข้าซิมบับเวอีกครั้ง และจะเข้าพบนายมูกาเบเร็วๆนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการถ่ายโอนอำนาจการปกครองมาสู่นายนังกากวาแทนนายมูกาเบ
เบื้องหลังโค่นอำนาจมูกาเบ
เกรซ มูกาเบ ภริยาวัย 51 ปีของนายโรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเว เป็นผู้ที่ถูกวางตัวให้สืบทอดอำนาจต่อจากสามี เธอได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ของประเทศ
นายมูกาเบวัย 93 ปี ปกครองประเทศมายาวนานตั้งแต่ปี 1980 รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ถือเป็นผู้นำที่อายุมากที่สุดในโลก เขาเป็นแกนนำผู้เรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ยกเลิกกฎเกณฑ์แบ่งแยกสีผิว และใช้นโยบายสังคมนิยมบริหารประเทศ ทำให้นายมูกาเบได้รับความนิยมในฐานะบิดาแห่งชาติและผู้ปลดแอกให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ เทียบได้กับนายเนลสัน แมนเดลา แห่งเซาท์แอฟริกา แต่หลังจากกากปกครองที่ยาวนาน ก็เริ่มมีเสียงสะท้อนว่าเขาเป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่สุดคนหนึ่งของโลก
นายเอ็มเมอร์สัน นังกากวา รองประธานาธิบดีที่ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของนายมูกาเบ และเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ ถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นชนวนเหตุของการรัฐประหาร
ความขัดแย้งระหว่างนายมูกาเบและกองทัพ เริ่มขึ้นจากการไม่ลงรอยระหว่างเขากับนายเอ็มเมอร์สัน นังกากวา รองประธานาธิบดี ที่คาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากนายมูกาเบ เนื่องจากในระยะหลัง เริ่มมีความชัดเจนว่านายมูกาเบต้องการให้นางเกรซ มูกาเบ ภรรยาของเขาเป็นทายาททางการเมืองแทน
เดือนที่ผ่านมา นายมูกาเบเปิดเผยว่ามีการคิดก่อรัฐประหาร โดยผู้ที่ให้การสนับสนุนนายนังกากวาขู่ว่าจะสังหารผู้ที่ต่อต้านเขา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมูกาเบก็สั่งปลดนายนังกากวาจากตำแหน่ง ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สนับสนุนรองประธานาธิบดี โดยเฉพาะพลเอกคอนสแตนติน ชิเวนกา ผู้บัญชาการทหารบกของซิมบับเว ที่ประกาศกลางที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.) ว่ากองทัพจะเข้าขัดขวางการปราบปรามเครือข่ายของนายนังกากวา โดยอ้างว่าการปราบปรามดังกล่าวมุ่งเน้นคนที่มีภูมิหลังต่อสู้เพื่อการปลดแอกคนผิวสี
สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อพรรครัฐบาลประณามพลเอกชิเวนกาว่าคิดจะก่อกบฏ และวันอังคารที่ผ่านมา (14 พ.ย.) เมื่อมีการขนกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ และยุทโธปกรณ์เข้ามาในกรุงฮาราเร เมืองหลวง โดยไม่มีใครทราบที่มาที่ไป ก็เริ่มมีข่าวลือถึงการรัฐประหารแพร่สะพัด และสถานการณ์ก็ชัดเจนเมื่อมีการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ และส่งกำลังทหารคุมจุดสำคัญทั่วทั้งเมืองในที่สุด
ชาวซิมบับเวคิดอย่างไรกับรัฐประหาร?
หลังการเข้าควบคุมสถานการณ์ของกองทัพ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว แต่ประธานกลุ่มทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นเครือข่ายของนายนังกากวา และสนับสนุนกองทัพ ออกมาชื่นชมความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยุติการใช้อำนาจในทางมิชอบโดยปราศจากการนองเลือด และทำให้ซิมบับเวเป็นประเทศที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็หวังว่าการเข้ายึดอำนาจของกองทัพจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ
สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนของอังกฤษ ลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนในกรุงฮาราเร พบว่าคนส่วนใหญ่แปลกใจและกังวลใจกับการรัฐประหาร แต่หลายคนบอกว่าพวกเขาหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น คนขายผลไม้ริมทางคนหนึ่งบอกว่า เขาขายของบนถนนมาหลายสิบปีแล้ว ชีวิตไม่เคยดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ได้
เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช