ไม่พบผลการค้นหา
โจชัว หว่องระบุว่า การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ ถือเป็นเกียรติแก่ประชาชนชาวฮ่องกง พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง

คณะกรรมาธิการบริหารสภาคองเกรสด้านกิจการจีน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. สหรัฐฯ 12 คนจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ร่วมกันเสนอชื่อนายโจชัว หว่อง อายุ 21 ปี / นาธาน เหลา อายุ 24 ปี และ อเล็กซ์ เจา อายุ 27 ปี รวมถึงขบวนการปฏิวัติร่ม เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ ทำให้เป็นครั้งแรกที่ชาวฮ่องกงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล

โดย ส.ส. สหรัฐฯ ระบุว่า แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกงทั้ง 3 คนได้พยายามปฏิรูปการเมืองอย่างสันติ เพื่อกำหนดอนาคตของฮ่องกงด้วยตัวเอง และปกป้องเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ การเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจ เนื่องจากจีนมองว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการบริหารสภาคองเกรสด้านกิจการจีน ซึ่งมีนายมาร์โค รูบิโอ ส.ว.พรรครีพับลิกันเป็นประธาน ก็มักออกแถลงการณ์กดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อของฮ่องกง และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการตัดสินให้สถานะสมาชิกสภาของแกนนำฝ่ายหนุนการแยกประเทศเป็นโมฆะ เพราะไม่กล่าวสาบานตนว่าจะจงรักภักดีกับจีนแผ่นดินใหญ่

ด้านโจชัว หว่อง ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ถึงความรู้สึกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลว่า หากได้รางวัลจริง ก็น่าจะทำให้พวกเขามีอำนาจการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลจีนได้มากขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนยุคใหม่ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะถูกตัดสินจำคุกหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็ตาม

ต่อมานายหว่องได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยระบุว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของจีนและฮ่องกงที่เริ่มต้นมายาวนานหลายปี แต่เขาขอให้การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นเกียรติให้กับชาวฮ่องกงทั้งหลาย เนื่องจากชาวฮ่องกงได้ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1989 เช่นเดียวกับนายหลิวเสี่ยวโป เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวจีนที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว

นายหว่อง กล่าวว่า ในขณะที่สิทธิเสรีภาพฮ่องกงกำลังถูกลิดรอน พวกเขาต้องการให้นานาชาติช่วยกันปกป้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนปล่อยตัวนางหลิวเสีย ภรรยาของนายหลิวเสี่ยวโป และขอโทษครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีนมองว่า แกนนำทั้ง 3 คนไม่สมควรได้รับการเสนอชื่อ เพราะการชุมนุมปิดย่านศูนย์กลางการค้าและศูนย์ราชการในปี 2014 เป็นการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และยุยงให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ ชาวฮ่องกงจำนวนมากก็ไม่ได้มองแกนนำทั้ง 3 คนเป็นฮีโร่ช่วยกอบกู้ประชาธิปไตยแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม: