ทุกสงครามย่อมมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นส่วนประกอบสำคัญ และสงครามย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล สงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินมาเกือบ 7 ปี คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 700,000 ราย และทำให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 226,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.7 ล้านล้านบาท จากการประเมินของธนาคารโลกเมื่อปี 2017 สูงกว่าจีดีพีซีเรียในปี 2011 ปีสุดท้ายที่ประเทศอยู่ในภาวะปกติหลายเท่าตัว และปัจจุบัน คนวัยทำงาน 3 ใน 4 ของซีเรียไม่มีงานทำ ถือเป็นภาวะที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะยาวแม้พ้นจากสงครามแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่ว่ามานี้ ยังเป็นเรื่องภายในซีเรีย แต่การยกระดับสงครามกลางเมืองซีเรียด้วยการทิ้งระเบิดจากสหรัฐฯและชาติยุโรปสัมพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส กลายเป็นประเด็นที่แวดวงเศรษฐกิจระหว่างประเทศกังวลอย่างมาก ว่าอาจทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงินที่เปราะบางอยู่แล้วจากเศรษฐกิจที่สุขภาพยังไม่ดีนักและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ปั่นป่วนมากขึ้นไปอีก
เมื่อสัปดาห์ก่อน เพียงแค่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความแสดงนัยว่าจะมีการโจมตีซีเรียในเร็วๆนี้ ดัชนีดาวโจนส์ก็ร่วงลงไปถึง 220 จุด แม้เมื่อการโจมตีมาถึงจริง หุ้นจะไม่ได้เคลื่อนไหวไปในแดนลบมากนักทั้งในยุโรปและอเมริกาเนื่องจากมีการคาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้ แต่ก็น่าจะผันผวนตลอดสัปดาห์ เนื่องจากสงครามที่รุนแรงขึ้นในซีเรียหมายถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ผันผวน และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯและยุโรป กับรัสเซีย ผู้ถือหางคนละฝ่ายในสงครามซีเรีย
ชาวอังกฤษรวมตัวประท้วงหน้ารัฐสภา เพื่อต่อต้านสงครามที่ขยายตัวในซีเรีย จากการร่วมกันทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส
อันที่จริงแล้วความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยุโรปเรื่องพลังงาน ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้สงครามซีเรียยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ ชาติอ่าวอาหรับมีแผนการจะสร้างท่อส่งน้ำมันพาดผ่านซีเรียเข้าสู่ยุโรป ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นหนามคาใจชาติอียูมานาน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการที่รัสเซียเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองซีเรีย ทำให้สงครามยืดเยื้อ เป็นแผนการขัดขวางการสร้างท่อส่งน้ำมัน เพราะหากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะลดอำนาจต่อรองที่รัสเซียมีต่ออียูอย่างมหาศาล
สิ่งที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าตลาดหุ้นและเงิน ก็คือน้ำมัน ความไม่สงบในตะวันออกกลางมักส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเสมอ เนื่องจากโอเปคจะใช้ความวุ่นวายจากสงครามเป็นเหตุในการลดกำลังการผลิต ครั้งนี้ก็เช่นกัน สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมันดิบจากตลาดเบรนท์พุ่งสูงถึง 72 ดอลลาร์ สูงสุดตั้งแต่ปี 2014 แต่ก็เช่นเดียวกับตลาดหุ้น ราคาน้ำมันลดลงเล็กน้อยเมื่อเกิดสงครามขึ้นจริง แต่ก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงในอนาคตอันใกล้หากสถานการณ์ยังไม่ยุติโดยเร็ว
ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น และซาอุดีฯก็กำลังต้องการดันราคาน้ำมันให้พุ่งเกิน 80 ดอลลาร์ เนื่องจากในปีหน้ารัฐบาลมีแผนจะขายหุ้น Aramco รัฐวิสาหกิจพลังงาน แหล่งเงินอันดับ 1 ของประเทศ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในคลังของซาอุดีอาระเบียก็ร่อยหรอลงทุกทีจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำต่อเนื่อง แต่หากราคาน้ำมันพุ่งเกิน 80 ดอลลาร์จริง ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นตัวอย่างมาก และไม่เป็นผลดีกับนานาชาติ ที่ต้องรับมือทั้งสงครามการค้าและความรุนแรงในตะวันออกกลางไปพร้อมๆกัน