ในงานเสวนาวิชาการ "ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน" ซึ่งจัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน วันนี้ (13 ส.ค.) มีผู้เข้าร่วมรับฟังกันเป็นจำนวนมาก
นายบรรเจิด สิงคเนติ จากคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า ความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย เกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทางมาจากทางตำรวจมีอำนาจในการกำหนดทิศทางโยงความผิดของประชาชนโดยลำพัง ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับยังขาดเรื่องของการให้หลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน ขณะที่อัยการยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทตรวจสอบการสอบสวนได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถเข้ามารู้เห็นคดีตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะหากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา อัยการก็ไม่สามารถเข้ามาร่วมได้
นอกจากนี้ ยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบจริยธรรมของพนักงานสอบสวนเหมือนในต่างประเทศที่มีคณะกรรมการจริยธรรมการสอบสวน ซึ่งประชาชนสามารถร้องเรียนคณะกรรมการชุดนี้ได้หากพบว่ามีการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันยังมีกรณีการฟ้องร้องไปก่อนเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ ซึ่งเป็นการนำประชาชนมาเป็นตัวประกัน ซึ่งตามหลักการหากฟ้องร้องภายในอายุความไม่ได้ ถือเป็นความรับผิดชอบของกลไกในกระบวนการสอบสวน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของประชาชน
พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ผู้เขียนหนังสือ "วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม" เห็นว่าการนำโครงสร้างของทหารมาใช้กับโครงสร้างตำรวจทำให้เกิดปัญหาตามมา การสอบสวนจึงถูกสั่งแบบทหาร คนสั่งจึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ โดยใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการโอนหน่วยตำรวจและงานสอบสวนเฉพาะทางไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบจำนวน 11 หน่วยงาน ซึ่งไม่เหมาะสมกับในยุคที่เรียกตัวเองว่าไทยแลนด์ 4.0
พ.ต.อ. วิรุตม์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ไม่มีการเขียนหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไว้ใน พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ เป็นเพราะไม่ต้องการให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นอิสระ ขณะเดียวกันยังมีผลพวงหนึ่งจากโครงสร้างระบบชั้นยศนี้ คือการที่ยังคงให้ตำรวจเป็นราชการส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถสั่งการตำรวจได้ ทั้งที่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนให้ตำรวจเป็นราชการส่วนภูมิภาค ตำรวจจึงกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด
นอกจากนี้ อดีตรองผู้บัญชาการจเรตำรวจ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ใน พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไม่ปรากฏสิ่งที่จะทำให้เกิดพนักงานสอบสวนเฉพาะทาง และยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีแพะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในมาตรา 14 และมาตรา 15 ของพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่ตำรวจยังคงเป็นผู้แจ้งข้อหาเช่นเดิม ทำให้หลักการในการสอบสวนยังไม่เป็นไปตามหลักสากล นั่นคือต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยในชั้นสอบสวน ก่อนการแจ้งข้อหา ขณะที่อำนาจของอัยการถูกเขียนหมกเม็ดไม่สามารถเข้ามาร่วมสอบสวนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่อัยการไม่สามารถร่วมในการสอบสวนได้ จึงขอเรียกร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้ว่า เป็นพ.ร.บ.ฉบับไร้เดียงสา หมกเม็ด ขี้หมูราขี้หมาแห้ง
ด้านนายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดกาญจนบุรี เล่าถึงความทุกข์ยากของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นแพะ ซึ่งเกิดจากกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ล้าหลัง ไม่เป็นไปอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และไม่เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะกฎหมายป.วิอาญา ที่กลายเป็นกฎหมายวิปลาส ทำให้คนชั่วลอยนวล คนดีเป็นแพะ
หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน คือไม่ควรให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการรู้เห็นพยานหลักฐาน ควรให้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมรู้เห็นพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงกลัวว่าอัยการจะเห็นพยานหลักฐานตั้งแต่เริ่มต้นคดี
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุไว้ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้นั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนยังไม่รับรู้ถึงสิทธิ์นี้อย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตควรต้องมีเวทีวิชาการชำแหละกฎหมายป.วิอาญาของไทยที่เป็นกฎหมายล้าหลังนี้ด้วย
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ซึ่งทั้งสองฉบับอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 2 - 16 ส.ค. 2561 นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: