ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 117,880.9139 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 117,880.9139 ล้านบาท ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,427.4530 ล้านบาท งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 38,653.4609 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 8,800 ล้านบาท ตามมาตรา 45 (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
ส่วนแนวทางการจัดสรรงบประมาณตามกรอบวงเงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรโดยมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณให้สนองด้านอุปสงค์เป็นหลัก (Demand-side Financing) เพื่อให้งบประมาณด้านการอุดมศึกษาถูกใช้ ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ฉบับสมบูรณ์ และให้ความสำคัญกับกลไกที่จำเป็นต่อการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ
กระทรวง อว.รายงานว่า งบประมาณปี 2565 เพื่อตอบโจทย์นโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 จำนวน 117,880.9139 ล้านบาท มุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 ฉบับสมบูรณ์ โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่
1. การผลิตบัณฑิตและกำลังแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตบัณฑิตในระบบอุดมศึกษา (Degree Program) ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา จำนวน 1,423,653 คน และการผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (Non - degree Program) จำนวน 50,000 คน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่นอกวัยเรียนสามารถพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Re - skill) การยกระดับทักษะเดิม (Up - skill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (New Skill) ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ดังนี้
1) การพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อน BCG ประกอบด้วย กลุ่มสตาร์ทอัพ(Startup) กลุ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises: IDE) กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) กลุ่มผู้ให้บริการมูลค่าสูง (High Value Service Provider) กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology
Developer) และกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) รวมถึงบุคลากรวิชาชีพเฉพาะด้านที่จำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ เช่น นักอนุกรมวิธาน และนักนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น โดยต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะเฉพาะด้านเพื่อให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ System Biology, Bioinformatics, Life Science ด้านเกษตรและอณูชีววิทยา เป็นต้น
2) การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับภาวะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งเน้นหลักสูตรที่พัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่จะเป็นฐานสำคัญหลังการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
3) การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมระบบราง โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการบิน
2. การพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้พัฒนาศักยภาพตามความเชี่ยวชาญและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ ผ่าน 5 กลไก ดังนี้
1) การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) รองรับสังคมสูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 โดยการพัฒนาเทคโนโลยี ปัจจัยเอื้อสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดทำ Mobile Application ห้องสมุดดิจิทัล และการจัดทำชุดองค์ความรู้สำหรับทักษะอนาคต (Skill for Future) รองรับการขับเคลื่อน BCG
2) การพัฒนาและแสวงหาบุคลากรที่เน้นสมรรถนะ มุ่งเน้นการพัฒนาอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาและแสวงหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญการวิจัยระดับโลกเข้าร่วมงานกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งแบบเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลา (Adjunct/Visiting Scholar) รวมถึงการจัดสรรทุนในระดับบัณฑิตศึกษา และทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก
3) ความเป็นนานาชาติ มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเชิงยุทธศาสตร์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกตามจุดเน้นของสถาบันอุดมศึกษา และโจทย์ของประเทศ เช่น การร่วมจัดการเรียนการสอน การวิจัยร่วมในสาขาที่เป็นอนาคตของประเทศและสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรและนักศึกษา และการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อดึงดูดนักศึกษาระดับมันสมองจากกลุ่มประเทศขาดแคลนเพื่อเข้าเรียนและศึกษาวิจัยในประเทศไทย เป็นต้น
4) การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศของการประกอบการและนวัตกรรมเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่แบบยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา BCG ให้มีความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาระบบการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการจัดตั้งโครงการศูนย์การเรียนรู้ และห้องปฏิบัติการเสมือนจริงเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนการสอน การวิจัย และนวัตกรรม
5) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายจตุภาคี (Quadruple Helix) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศที่ตรงตามกลุ่มยุทธศาสตร์และจุดเน้นของมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนากำลังคนและสร้างความเป็นเลิศเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายและทิศทางของประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนภายใต้แนวคิด BCG
ข่าวที่เกี่ยวข้อง