ไม่พบผลการค้นหา
ยิ่งนานวัน โครงการความช่วยเหลือในลักษณะสังคมสงเคราะห์จากคนดังยิ่งอยู่ยากขึ้นทุกวัน ดูได้จากกรณีโครงการวิ่งเพื่อน้องปี 2 ของ 'ตูน บอดี้สแลม' เพื่อระดมทุนการศึกษา 109 ทุนแก่เยาวชนที่ขาดแคลนและต้องการเรียนต่อมัธยมปลายและอาชีวศึกษา

หลายความเห็นที่โต้แย้งการวิ่งระดมทุนการศึกษาสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง 'วอยซ์' จึงสำรวจข้อมูลภาพรวมเด็กยากจนของไทย จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีงานหลักในการให้ทุนแก่เยาวชนชายขอบไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา 

กสศ.ระบุว่า ข้อมูลปี 2562 เด็กวัยเรียนช่วงอายุ 6-14 ปี (ป.1-ม.3) มีอยู่ 19.4% หรือราว 4.3 แสนคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรืออยู่นอกระบบการศึกษาแม้รัฐจะนโยบายเรียนฟรี ส่วนคนที่ได้เรียนหนังสือในระบบการศึกษาก็มีกลุ่มที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบ เพราะเป็น 'นักเรียนยากจนพิเศษ' มากถึง 8.4 แสนคน 

เกณฑ์ความจนของ กสศ.

 นักเรียนยากจน คือ อยู่ในครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 3,000 บาท/คน/เดือน ดังนั้น แม้ค่าเรียนจะฟรีแต่ค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ จะทำให้ครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานสูงถึง 22% ของรายได้ หรือเกือบ 1 ใน 4 

นักเรียนยากจนพิเศษ คือ อยู่ในครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย 1,332 บาท/คน/เดือน ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (ไม่รวมค่าเดินทาง) ของนักเรียนไทยอยู่ที่ 1,195-4,829 บาทต่อหัวต่อเทอม


ยากจน.png

ข้อมูลจากเว็บไซต์ กสศ. - ข้อมูลแสดงจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2/2560 – 1/2564 โดยข้อมูลนักเรียนทั้งหมดในปีการศึกษา 1/2564 เมื่อนำไปจำแนกตามค่าน้ำหนักตัวแทนรายได้ (PROXY MEANS TEST: PMT) ในแต่ละภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้ประเภทของนักเรียนเป็นไม่จน ยากจน และยากจนพิเศษ นอกเหนือจากการนำไปจำแนกตาม PMT ข้อมูลนักเรียนทั้งหมดในปีการศึกษา 1/2564 สามารถนำมาจำแนกประเภทของนักเรียนออกเป็นนักเรียนยากจนที่ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนของ สพฐ และนักเรียนยากจนที่ผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ตัวแทนรายได้ (PMT) โดยนักเรียนเหล่านี้ล้วนแต่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ

หากดูตัวเลขของเด็ก 'ยากจนพิเศษ' เป็นรายเทอม จะพบว่าหลังการระบาดของโควิดนั้นจำนวนพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ 

ปีการศึกษา 1/2561 มีอยู่ 620,937 คน

ปีการศึกษา 2/2561 มีอยู่ 510,083 คน 

ปีการศึกษา 1/2562 มีอยู่ 711,536 คน

ปีการศึกษา 2/2562 มีอยู่ 761,729 คน 

ปีการศึกษา 1/2563 มีอยู่ 994,428 คน

ปีการศึกษา 2/2563 มีอยู่ 1,174,444 คน

ปีการศึกษา 1/2564 มีอยู่ 1,244,591 คน 

นอกจากรายได้แล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กยากจนหลุดจากระบบการศึกษายังประกอบด้วยสภาพครอบครัวที่มีภาระสูง เช่น คนสูงอายุ คนติดเตียง คนว่างงาน, การที่ไม่มีที่ดินทำกิน, ลักษณะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง, ไม่มีแหล่งน้ำดื่มสะอาดหรือไฟฟ้า, อุปสรรคในการเดินทาง 

ดังนั้น แม้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน่วยงานมากที่สุด ใหญ่ที่สุดในบรรดาทุกกระทรวงจะได้รับงบประมาณเป็นอันดับ 1 ของประเทศมาตลอดทศวรรษ แต่ดูเหมือนนั่นไม่ได้ช่วยอุดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างครอบคลุม ไม่นับปัญหาอีกมากมายในเชิงคุณภาพการเรียนการสอน 

ที่มาข้อมูล