ภายหลังจาก พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการซ่อมหรือธำรงวินัย
ซึ่งผลจากสอบสวนพบว่าตลอดทั้งวันของวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ น้องเมย ไม่ได้ถูกผู้หนึ่งผู้ใดสั่งทำการลงโทษหรือทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต โดยที่พยานให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ตลอดทั้งวันเว้นช่วงที่เป็นลมในช่วงบ่าย น้องเมยสามารถพูดและเดินได้เป็นปกติ ยกเว้นหลังจากโทรศัพท์คุยกับผู้ปกครองแล้วมีอาการเครียดสูงและได้หมดสติไปเองต่อหน้าพยานซึ่งล้วนเป็นเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ซึ่งเพื่อนที่เข้าไปช่วยให้ความเห็นว่าน้องเมยมีอาการ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น" จึงพาไปส่งกองแพทย์ ก่อนจะนำส่งโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เบื้องต้นมาทำความรู้จักกับ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น" โดยข้อมูลจาก ผศ.พญ.ธนิตา หิรัญเทพ เว็บไซต์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า Hyperventilation Syndrome หรือ โรคหอบจากอารมณ์ คือการที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเร็วและลึกอยู่นาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการต่างๆ ทางร่างกายติดตามมา อาการดังกล่าว มักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล หรือได้รับความกดดันทางจิตใจ ก่อนหน้าที่จะมีอาการ ซึ่งอาการดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางกายอื่นๆ
ลักษณะอาการและสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอะไร
ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว บ่นหายใจลำบาก หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น อาจพบอาการเกร็ง มือจีบ และอาจมีอาการชาบริเวณรอบปากและนิ้วมือได้ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลง ทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่สมอง รวมทั้งมีการลดลงของค่าแคลเซียมที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในเลือดลดลงด้วย อาการดังกล่าว มักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล โดยก่อนเกิดอาการอาจพบว่า ผู้ป่วยมักมีปัญหากดดันจิตใจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือที่ทำงาน หรือมีปัญหาการเรียน ต้องสอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าว อาจคล้ายคลึงกับอาการหอบจากสาเหตุทางกายได้หลายสาเหตุ เช่น โรคหอบหืด (asthma) ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) และอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป
วิธีการรักษา
โดยวิธีการรักษาอาการหายใจหอบ โดยการให้หายใจโดยใช้หน้าท้องซึ่งจะทำให้หายใจช้าลง อาการหายใจลำบากและอาการอื่นๆ บรรเทาลง เดิมจะนิยมให้หายใจในถุงกระดาษที่ครอบทั้งปากและจมูกแต่ปัจจุบันจะไม่ค่อยใช้กันแล้ว เนื่องจากไม่ได้ผลมากนักและหากผู้ป่วยมีภาวะทางกายที่อันตรายและมองข้ามเช่น หัวใจขาดเลือด น้ำท่วมปอด หรือโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นการใช้วิธีการหายใจในถุงกระดาษจะทำต่อเมื่อแพทย์ได้ตรวจแล้วว่าอาการหายใจหอบไม่ได้เป็นจากภาวะทางร่างกายที่อาจเป็นอันตราย ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจหอบและยังไม่ได้พบแพทย์มาก่อนไม่ควรใช้วิธีการนี้
หากผู้ป่วยหายใจทางหน้าท้องไม่ได้ หรือให้หายใจแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้กินยากลุ่มยาคลายกังวล จะช่วยให้อาการหายใจหอบทุเลาลง แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีด ซึ่งจะออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว
มักพบในกลุ่มบุคคลใด
อาการดังกล่าวพบบ่อยในผู้ป่วยหญิง วัยเรียน ถึงผู้ใหญ่ตอนต้น ก่อนเกิดอาการมักมีปัญหากดดันจิตใจ แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวอยู่เดิม หรือบุคลิกเดิมของผู้ป่วยไม่มีปัญหาในการปรับตัวกับภาวะกดดันมาก่อน หรือผู้ป่วยที่มีอาการโดยที่ไม่มีปัญหากดดันที่ชัดเจน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุทางกายที่กล่าวไปข้างต้น
ถือว่าเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงหรือไม่
ผู้ป่วยควรได้รับการอธิบายเพื่อเข้าใจถึงกลไกการเกิดอาการ รวมทั้งได้รับความมั่นใจว่าอาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และควรให้มาติดต่อรักษากับแพทย์ตามนัด
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล