ไม่พบผลการค้นหา
เป็นฉากเปิดตัวสำหรับปี 2561 ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวยอมรับเป็นครั้งแรกว่าตัวเอง “เป็นนักการเมือง” และไม่ปิดโอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ตามช่องทาง “นายกฯคนนอก” ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดทางเอาไว้

หลายๆ คนจับตาว่า ปีนี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่?

แต่ผมกลับมองว่า ปีนี้จะมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า "ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าตัวเองจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง"

ความเชื่อเช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากไล่ย้อนดูเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ที่หวังจะ "ต่อเวลา" การอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งทำอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นใดๆ ด้วยซ้ำ

1. ตลอดปี 2560 เราได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หากเทียบกับช่วง 3 ปีเศษก่อนหน้า ทั้งลงพื้นที่พบปะชาวบ้านอย่างถี่ยิบ หรือไปปิดห้องคุยกับแกนนำพรรคขนาดกลาง ซึ่งถูกมองว่าไม่ต่างกับทาบทามร่วมรัฐบาลไว้ล่วงหน้า

2. การตั้งคำถามให้ประชาชนตอบทั้ง 10 ข้อ ก็สะท้อนจิตใจเบื้องลึกของ พล.อ.ประยุทธ์ คำถาม 4 ข้อแรก มุ่งโจมตีการเลือกตั้งและนักการเมืองหน้าเก่าๆ ส่วนคำถามอีก 6 ข้อต่อมา เปรยเป็นนัยว่า จะมี "พรรคนอมินี" ของ คสช. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็นพรรคหน้าเก่าหรือพรรคตั้งใหม่

3. แม้จะให้คำมั่นต่อหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า "ไทยจะมีเลือกตั้งในปี 2561" แต่พอกลับแผ่นดินแม่มา ก็ย้ำเพียงว่า เลือกตั้งต้อง “เป็นไปตามโรดแม็ป” ซึ่งก็เป็นโรดแม็ปฉบับเดียวกับที่เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งในปี 2559 กลางปี 2560 และปลายปี 2560 จึงก็ต้องมาดูว่าในครั้งที่สี่ ปลายปี 2561 จะมีเลือกตั้งจริงๆ ไหม หรือใครจะยืดออกไปอีก

4. กกต.ได้คำนวณแล้วว่า วันหย่อนบัตรน่าจะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.ของปีนี้ แต่ภายใต้ข้อแม้ว่า ต้องเคลียร์เงื่อนไขต่างๆ จนครบ ทั้ง "เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ" คือกฎหมายลูกที่ยังเหลืออีก 2 ฉบับ (พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กับ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.) กับ "เงื่อนไขที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเอง" ซึ่งมีออกมาเรื่อยๆ และออกมาได้ตลอดเวลา เช่น ต้องจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยก่อน ฯลฯ

5. การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ยืดเวลาปลดล็อกพรรคการเมืองจากเดิมถึง 6 เดือน ไปเป็นเดือน เม.ย.ของปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายสะท้อนว่าต้องการรีเซ็ตสมาชิกพรรคใหญ่ โดยพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับผลกระทบสูงสุด

6. คำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ว่า "ตู่ใช้กองหนุนไปหมดแล้ว" น่าจะทำให้เจ้าตัวหวั่นใจไม่มากก็น้อย และหากเจ้าตัวไม่แน่ใจว่ามีกองหนุนเพียงพอหรือไม่ ก็เป็นไปได้ที่จะส่งสัญญาณยืดเวลาโรดแม็ปออกไปอีก

7. และอย่างที่รู้กัน คือเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้วางกติกาในการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดสภาพเบี้ยหัวแตก พรรคขนาดใหญ่จะมี ส.ส.ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลด้วยตัวเอง แต่พรรคขนาดกลางจะมีอิทธิพลและบทบาทสูงในการจัดตั้งรัฐบาล

8. ไม่รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ให้หัวหน้า คสช. เลือก ส.ว.สรรหา 250 คน และ ส.ว.สรรหา ก็มาเลือกนายกฯคนต่อไปได้อีก ถึง 2 สมัย ซึ่งไม่มี "ข้อห้าม" ใดๆ ที่จะไม่ให้คนที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือก กลับมาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ อีกที ที่ตามภาษาการเมืองเรียกว่า “ผลัดกันเกาหลัง”

ประชาธิปไตยในนิยามของลุงตู่ ที่อ้างว่าจุดสำคัญ ไม่ใช่ “การเลือกตั้ง” แต่เป็น “การมีส่วนร่วม” จากประชาชน ท้ายที่สุด ก็ไม่ได้ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างจริงๆ จังๆ

เพราะ คสช. พยายามดีไซน์ทิศทางการเมืองให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองอยากจะให้เป็น

และไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น ที่ต้องจับตา ในปี 2561 ยังมีอีกหลายๆ อีเว้นต์การเมืองอื่นที่น่าสนใจ แต่ที่ความคล้ายกับการเลือกตั้ง คือแม้จะมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน แต่คนที่มีบทบาทสำคัญ กลับเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่ คสช. ไว้ใจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งบังคับให้ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี หากใครฝ่าฝืนมีโทษทั้งทางวินัยและอาญา จัดทำโดยคณะกรรมการที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นประธาน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กลางปี 2561 นี้


แผนปฏิรูปประเทศประเทศด้านต่างๆ ปัจจุบันจัดทำเสร็จเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ราวเดือน มี.ค. – เม.ย.

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่ทำให้เห็นว่า ประชาชนในยุคของ คสช. แทบไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอะไรสักเท่าไร เพราะรัฐราชการที่นำโดยทหาร จะเป็นผู้กำหนดเองว่าบ้านเมืองควรจะเดินไปทิศทางไหน และใครควรจะได้เป็นนายกฯ คนต่อไป

เราจะได้หย่อนบัตรลงหีบ ก็ต่อเมื่อพวกเขามั่นใจแล้วว่า ผลของมันจะเป็นไปตามที่เขากำหนด ไม่ว่าจะในปี 2561 หรือปีไหนๆ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog